วันพุธที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การเมืองในศาสนา

การเมืองในศาสนา

จิตติเทพ  นาอุดม

บทนำ
ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ และในปัจจุบันการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย มีความก้าวหน้าไปมาก จะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งเกิดขึ้นจากสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน อันถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน เนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติใหม่ ๆ ที่จะสร้างความเข็มแข็งและประสิทธิภาพให้แก่ระบบการเมือง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การตรวจสอบอำนาจรัฐโดยองค์กรอิสระต่างๆ และจากภาคประชาชน เป็นต้น มาตรการเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบการเมือง แต่หากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่เปลี่ยนแปลงทัศนคติ และแนวความคิดแบบดั้งเดิมไปสู่แนวความคิดแบบประชาธิปไตยแล้ว ประเทศก็จะไม่สามารถพัฒนาไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ซึ่งแนวคิดของการมีส่วนร่วมทางการเมืองถือเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย การที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เข็มแข็งได้นั้น ทางหนึ่ง คือ การส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้และมีความเข้าใจถึงประโยชน์ของการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นนั่นเอง
สถานการณ์ทางการเมือง กระแสการทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงการแตกแยกกันทางความคิดของกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคม เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอยู่ในขณะนี้ล้วนแล้วแต่สั่นคลอนความเจริญมั่นคงของประเทศ เป็นเรื่องยากที่ประเทศชาติจะรอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้และต้องยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวข้างต้น มีผลมาจากพฤติกรรมของนักการเมืองเป็นส่วน ประกอบสำคัญ นั่นคือ การขาดจิตสำนึกด้านคุณธรรม และจริยธรรม ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนอย่างแท้จริง ในขณะที่ประชาชน ต่างถามหานักการเมืองที่มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ ย่อมส่งผลและเป็นหนทางที่จะช่วยให้ประเทศชาติสามารถผ่านพ้นวิกฤตได้[๑]
จากการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ไม่เว้นแต่ละวัน ในประเด็นที่เกี่ยวกับการทุจริตของนักการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาการใช้อำนาจทางกฎหมายอยู่เหนือกรอบคุณธรรม จริยธรรม และนับวันกระแสการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าสังคมของเรากำลังประสบปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับจิตสำนึกด้านคุณธรรมและจริยธรรมมากมาย โดยเฉพาะในวงการการเมือง จนอาจกล่าวได้ว่า มาตรฐานทางการเมืองกับวัฒนธรรมทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยของประเทศไทย ด้อยในมาตรฐาน นับตั้งแต่ด้อยในความรับผิดชอบ ด้อยในความซื่อสัตย์ สุจริต ความมีจริยธรรม คุณธรรม และคงไม่มีใครปฏิเสธว่า การทุจริตของนักการเมืองทำให้ประชาชนทุกข์ยาก ลำเค็ญขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้คนดีข้าราชการดีๆ ท้อแท้ ไม่ก้าวหน้า ประเทศชาติเกิดความเสียหายทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยแต่ก็เห็นด้วยว่าเป็น ประชาธิปไตยที่ถูกชักจูง จัดฉาก ติดสินบนเพื่อแลกกับผลจากการเลือกตั้ง และเข้าใจว่าประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้งและต้องยอมรับว่าในบรรดาอาชีพที่มีอยู่นักการเมือง เป็นอาชีพที่มักไม่ได้รับความเชื่อมั่นหากชนะการเลือกตั้งซึ่งถือว่าเกิดจากประชาชนส่วนใหญ่เลือกมาจะทำอะไรก็ได้โดยอ้างว่าเป็นสิ่งที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนไม่ว่าจะขัดแย้งกับกฎหมายหรือจริยธรรมแค่ไหนก็ตามทีผู้คนมักกล่าวถึงในทางเสียดสีต่างๆ นานา มาโดยตลอด นับแต่อดีต[๒]
จริยธรรมของนักการเมืองนับได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่นักวิชาการทางการเมืองให้ความสนใจศึกษา และพยายามที่จะผลักดันให้เป็นเงื่อนไขสำคัญอันนักการเมืองจะยึดถือปฏิบัติทั้งนี้ เพราะนักการเมืองถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่ปัจจุบันปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นในสังคมส่วนหนึ่งเกิดจากความเห็นแก่ตัวของนักการเมือง ความเห็นแก่พักแก่พวก เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ทำให้เกิดปัญหาทางด้านการเมืองที่ยึดเยื่อ ส่งผลกระทบต่อปัญหาบ้านเมืองในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว ความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับรากหญ้า เป็นต้น
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนคือเป้าหมายของการพัฒนาระบบประชาธิปไตย ดังนั้นความมั่นคงและเสถียรภาพของระบอบการเมืองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะขึ้นอยู่กับ วามรู้ความสามารถ จริยธรรมและคุณธรรมของนักการเมือง แล้วประการสำคัญยังขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจ และความศรัทธาของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยในฐานะที่กำลังศึกษา อยู่สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จึงมีความสนใจที่จะศึกษา ทัศนคติของผู้นำชุมชนในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานีต่อจริยธรรมทางการเมืองของนักการเมือง เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยพร้อมทั้งกำหนดแนวทางในการที่จะพัฒนาให้นักการเมืองมีทัศนคติและแนวคิดทางการเมืองในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตย แล้วน าไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยของประชาชนทั่วไปในวิถีทางที่ถูกต้องชอบธรรม เพื่อรักษาให้ระบอบการเมืองมีเสถียรภาพต่อไป
จริยธรรมนักการเมือง คือ หลักเกณฑ์ที่ใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติของนักการเมืองโดยนักการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองซึ่งมีฐานะเป็นผู้ปกครองและผู้ใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจทางการเมืองจึงต้องมีจริยธรรม คุณธรรมที่สูงส่งกว่าปัจเจกชนทั่วไปที่พึงมี เพราะคุณลักษณะดังกล่าวคือจุดเริ่มต้นของที่มาของความไว้วางใจจากประชาชนนั่นเอง และการใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจทางการเมืองส่งผลต่ออธิปไตยของรัฐและการอยู่รอดของประเทศ โดยนักวิชาการได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับจริยธรรมคุณธรรม สำหรับนักการเมือง หรือผู้ปกครองพึงต้องมีสรุปได้ดังนี้
๑. ปรัชญาเต๋าเหล่าจื๊อ นักปราชญ์ชาวจีน ผู้ให้แนวคิดเกี่ยวกับปรัชญา เต๋าและ เต๋อโดยคำว่า เต๋อ”(Te) แปลว่า พลังอำนาจ” (Power) หรือคุณธรรม” (Virtue) กฎธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งครอบงำสรรพสิ่งทั้งหลายทั่วสากลจักรวาลนั้น คือเต๋าทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่มีชีวิตและที่ไม่มีชีวิตตั้งแต่สิ่งที่เล็กที่สุดจนถึงสิ่งที่ใหญ่ที่สุด ต่างก็ดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ของเต๋าทั้งสิ้น สำหรับสิ่งที่มีชีวิตนั้นไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์พืช หรืออื่นๆ จะมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวเรียกว่า เต๋อเต๋อ จึงเป็นได้ทั้งพลังชีวิตและคุณธรรม สำหรับสัตว์พืช และสิ่งที่มีชีวิตในลักษณ์อื่นๆนั้น เต๋อ คือ พลังชีวิตที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ สำหรับมนุษย์แล้ว เต๋อ คือ พลังชีวิตที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่และคือคุณธรรมที่ทำให้ชีวิตนั้นมีค่าโดยสมบูรณ์จริยธรรมอันสูงสุดของมนุษย์ก็คือ เต๋อนั่นเองทั้งเต๋าและเต๋อ ในส่วนที่ลึกที่สุดนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยหลักจริยธรรม (Ethics) ของเหล่าจื้อแบ่งเป็น ๔ ข้อ ได้แก่[๓]
๑) การรู้จักตนเองการรู้จักตนเอง หมายถึง การรู้จักธรรมชาติภายในที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตจิตใจของมนุษย์โดยตรงเหลาจื๊อไม่ส่งเสริมการแสวงหาความรู้ภายนอกเพราะมีแต่จะทำให้คนเราเหินห่างจากความรู้ความเข้าใจในชีวิตของตนและก่อให้เกิดความยุ่งยากขึ้นแก่ชาวโลกไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น การรู้จักตนเอง คือการรู้จักกฎธรรมชาติของชีวิต การรู้จักกฎธรรมชาติของชีวิตก็คือ การรู้จักเป้าหมายอันแท้จริงของชีวิตนั่นเอง
๒) การชนะตนเองเมื่อรู้จักกฎธรรมชาติของชีวิตได้อย่างถ่องแท้และปฏิบัติตามกฎธรรมชาตินั้นอย่างถึงที่สุดแล้วจนกระทั่งตัวเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกฎธรรมชาตินั้นไม่มีการฝืนใจอีกต่อไป เรียกว่าการชนะตัวเองได้อย่างเด็ดขาดเพราะเมื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติก็จะเกิดความรู้สึกที่เต็มเปี่ยมขึ้นมา และเมื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่าง
๓) ความสันโดษเมื่อรู้จักกฎธรรมชาติของชีวิตและปฏิบัติตามกฎธรรมชาติของชีวิตนั้น จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวธรรมชาติก็จะเกิดความรู้สึกเต็มเปี่ยมขึ้นมามีแต่ความหยุดความพอ ไม่รู้สึกขาดตกบกพร่องอีกต่อไปนั้น คือ ชีวิตที่มักน้อยสันโดษที่สุดความสันโดษ ก็คือ ความพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่
๔) อุดมคติแห่ง เต๋าจริยธรรมข้อที่สี่ของเหลาจื๊อ คือจงมีเต๋าเป็นอุดมคติการมีเต๋าเป็นอุดมคติ คือ การปฏิบัติตามเต๋า เมื่อปฏิบัติตามเต๋าได้โดยสมบูรณ์ชีวิตก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเต๋า ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเต๋า ก็คือชีวิตที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่าง นี่คือเป้าหมายอันแท้จริงของชีวิต
๒. ปรัชญาขงจื้อ ขงจื้อถือได้ว่าเป็นตัวแทนแห่งความเชื่อของคนจีนทั้งมวล และถือได้ว่าเขาเป็นคนธรรมดาคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับเป็น เทพถึงกับมีผู้กล่าวว่าถ้าไม่ได้ศึกษาขงจื้อย่อมจะไม่เข้าถึงประวัติศาสตร์จีน[๔]  ปรัชญาการเมืองของขงจื้อมีรากฐานมาจากคุณธรรม ความกตัญญู ความเมตตา คุณงามความดีความถูกต้อง ความตรงไปตรงมา การสนับสนุนและความไว้วางใจจากประชาชน โดยคำสอนของท่านถือเอา คุณธรรมกับ การเมืองเป็นเรื่องเดียวกันโดยให้เริ่มจากการศึกษาตนเองจากบุคคลศึกษาสิ่งต่างๆอย่างถ่องแท้ ซึ่งจะเป็นรากฐานนำพาสู่สันติสุขของสังคม โดยแท้ดั่งคำสอนของขงจื้อว่าด้วยคุณธรรม คุณงามความดี” “ความถูกต้องได้แก่การปกครองยึดมั่นคุณธรรม ดุจดั่งดาวเหนืออยู่ประจำที่มีดาวอื่นๆหมุนรอบด้วยความเคารพนับถือความคิดเสาหลักอีกประการหนึ่งของขงจื๊อคือการศึกษา การจะได้เข้าใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างแท้จริงมาจาการทุ่มเทตนเองในการขวนขวายใส่ใจศึกษายาวนาน โดยการศึกษาในความหมายของขงจื้อคือการได้ครูดีเป้าหมายของขงจื้อในการผลิตผู้สูงส่งคือให้ความสง่า พูดจาถูกต้องและแสดงถึงคุณธรรมในทุกสิ่ง โดยขงจื้อถือว่าศีลธรรมศึกษาเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่ผู้คนจะยอมรับสถานการณ์รับรู้ความหมายของภาษาและคุณค่าของสังคม[๕]
๓. ปรัชญาของโสเครตีสโสเครตีส เป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกตะวันตกเป็นนักปรัชญาที่มุ่งเน้นในการแสวงหาและเผยแพร่คุณค่าแห่งปัญญา ปัญญาในความหมายของโสเครตีส คือความรู้แห่งความดีความรู้แห่งความดีจะนำพามนุษย์ไปสู่ชีวิตที่เป็นสุขโดยเฉพาะการมีชีวิตร่วมกันในสังคมมนุษย์จะต้องยึดมั่นในการกระทำความดีเพื่อให้การใช้ชีวิตร่วมกันเป็นไปโดยสันติสุข ปรัชญาของโสเครตีส จึงเป็นรากฐานสำคัญของความคิดทางการเมืองที่มุ่งมั่นให้มนุษย์แสวงหาความดีอันเป็นคุณธรรมสูงสุดของชีวิตสังคม และด้วยความกล้าหาญในการรักษาอุดมการณ์หลักคุณธรรมที่สำคัญของโสเครตีส ได้แก่[๖]
๑) ปัญญา (Wisdom) หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับความดีคือ รู้ว่าอะไรดีและอะไรไม่ดีความดีสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล และเหตุผลของความดีจะทำให้มนุษย์มีความสุข ดังนั้น ผู้ปกครองกับคุณธรรมแห่งปัญญา คือ ผู้ปกครองที่ดีจะต้องมีคุณธรรมแห่งปัญญา กล่าวคือ ต้องมีความรู้ว่าความดีคืออะไร เมื่อผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจอย่างชัดแจ้งในเรื่องความดีผู้ปกครองจะต้องประพฤติปฏิบัติตนตามวิถีแห่งความดี เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชน ในขณะเดียวกันจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับความดีอย่างกว้างขวางและทั่วถึง ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากผู้นำปราศจากคุณธรรมแห่งปัญญาคือไม่สนใจคุณค่าของความรู้เกี่ยวกับความดีไม่ประพฤติและปฏิบัติตนตามวิถีแห่งความดีกลับมุ่งกระทำการเพื่อประโยชน์และความพอใจแห่งตน ใช้อำนาจเพื่อกดขี่ข่มเหงประชาชน ประชาชนจะตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวและจมปลักอยู่กับความไม่รู้การกระทำชั่วอาจจะแพร่หลายระบาดอย่างกว้างขวาง เพราะความชั่วกระทำง่ายกว่าความดีสังคมจะยิ่งเลวร้ายและสังคมจะหายนะในที่สุด
) ความกล้าหาญ (Courage) หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เราควรกลัวหรือไม่ควรกลัวกล่าวคือ มีความกล้าหาญที่จะทำความดีในทุกสถานการณ์แม้ว่าการกระทำความดีนั้นจะเสี่ยงด้วยชีวิตก็กล้าหาญที่จะกระทำ คุณธรรมเป็นความกล้าหาญมิใช่กล้าบ้าบิ่น แต่เป็นความกล้าหาญด้วยเหตุและผลที่จะรักษาความดีและและความถูกต้องของสังคมให้ดำรงอยู่ตลอดไป
) การควบคุมตัวเอง (Temperance) หมายถึง การมีชีวิตตามท านองคลองธรรมแห่งความดีการไม่ปล่อยให้ชีวิตต้องตกเป็นทาสของอารมณ์และความปรารถนาต่างๆ ที่ไม่เหมาะไม่ควร ชีวิตที่มีการควบคุมตนเองจะทำให้เกิดระเบียบในการดำเนินชีวิต จะทำให้เกิดการใช้ปัญญาในการกระทำความดีกล่าวคือ การใช้ปัญญาในการแสวงหาเหตุผลเพื่อรักษาตนให้ดำรงความดีอยู่ตลอดเวลา
) ความยุติธรรม (Justice) หมายถึงการแสดงออกในรูปของการกระทำที่เคารพสิทธิของผู้อื่น และการไม่ยอมกระทำความชั่วต่อผู้อื่น คนที่ยุติธรรมจะต้องไม่ตอบแทนการกระทำที่อยุติธรรมของผู้อื่นด้วยความอยุติธรรม
) การปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา (Piety) หมายถึง การกระทำความดีและการเคารพยกย่องสิ่งที่ควรยกย่อง หลักสำคัญของศาสนาทุกศาสนาคือการสั่งสอนให้บุคคลกระทำความดีดังนั้นการที่บุคคลกระทำความดีอย่างมั่นคงเป็นการแสดงออกถึงคุณธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาการกระทำความดีมีความหมายครอบคลุมการใช้ปัญญาในการพิจารณาสรรพสิ่งด้วยเหตุด้วยผลและเลือกประพฤติปฏิบัติเฉพาะในสิ่งที่ดี มีความกล้าหาญที่จะกระทำในสิ่งที่ดี มีสติสามารถควบคุมตนเองไม่ให้ตกเป็นทาสของสิ่งที่ไม่ดี
ปรัชญาของอริสโตเติลหลักคุณธรรมด้านจริยธรรมของนักการเมือง ๔ ประการตามแนวคิดของอริสโตเติล มีดังนี้
) ประการแรก ความรอบคอบ (Prudence) หมายถึง การเล็งเห็นหรือหยั่งรู้ได้ง่ายและชัดเจนว่าอะไรควรประพฤติอะไรไม่ควรประพฤติ
) ประการที่สอง ความกล้าหาญ (Courage) หมายถึง การกล้าเสี่ยงต่อการเข้าใจผิดกล้าเผชิญต่อการใส่ร้ายและการเยาะเย้ยเมื่อมั่นใจว่าตนกระทำความดี
) ประการที่สาม การรู้จักประมาณ (Temperance) หมายถึง การรู้จักควบคุมความต้องการและการกระทำต่างๆให้อยู่ในขอบเขตอันควรแก่สภาพตามฐานของบุคคลไม่ให้เกินความจำเป็นตามธรรมชาติไม่ให้ก้าวก่ายสิทธิอันชอบธรรมของผู้อื่น
) ประการที่สี่ ความยุติธรรม (Justice) หมายถึง การให้แก่ทุกคนและแต่ละคนตามความสามารถ (Giving every man his due) ซึ่งจะต้องระลึกว่าเรามีกำลังให้เท่าใด ควรให้แก่ใครเท่าใดและอย่างไร
นอกจากนี้ แมกซ์เวเบอร์ (Max Weber) [๗] กล่าวว่า คุณสมบัติเด่น ๓ ประการที่จะประกอบกันเป็นจริยธรรมสำหรับนักการเมือง ได้แก่
. มีอารมณ์ผูกพัน แน่วแน่ จริงจังต่ออุดมการณ์ (Passion) หมายความว่านักการเมืองจะต้องรู้สึกห่วง กังวล เอาใจใส่ต่อสิ่งที่เขาต้องการจะต่อสู้คำว่า Passion ไม่ใช่อารมณ์ที่เกิดจากความตื่นเต้นที่ไร้ความหมาย (Sterile Excitement) หรือเป็นเพียงเจตคติภายใน (Inner Attitude)เท่านั้น แม้แต่การปฏิวัติที่ปราศจากความรับผิดชอบก็ไม่นับว่าเป็น Passion
. มีความรับผิดชอบ (Responsibility) จริยธรรมของความรับผิดชอบเป็นตัวที่จะชี้ให้เห็นชัดว่า นักการเมืองมีความมุ่งมั่นที่จำงานเพื่ออุดมการณ์หรือไม่ คนที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาจริงจังต่ออุดมการณ์การจะได้รับการเคารพแต่จะไม่มีใครยอมให้เป็น นักการเมืองถ้าไม่มีความรับผิดชอบเพราะอาจใช้ความรุนแรงจากการมีอำนาจที่ชอบธรรมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะติดตามมา นักการเมืองที่มีลักษณะเช่นนี้ ย่อมเป็นบุคคลที่เป็นอันตรายต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างยิ่ง
. มีวิจารณญาณ (Judement) หมายถึงความสามารถที่จะรักษาไว้ซึ่งความไม่หวั่นไหวและความสงบ แต่สนองตอบต่อสภาพความเป็นจริง หรืออีกนัยหนึ่งจะต้องพิจารณาสิ่งต่างๆและคนจากระยะห่าง การขาดวิจารณญาณเป็นบาปหนักอย่างหนึ่งของนักการเมือง เป็นสิ่งที่ทำให้ไร้ประสิทธิภาพทางการเมือง
. พระพุทธศาสนากับแนวคิดด้านจริยธรรมของนักการเมืองพระพุทธศาสนาเน้นความเสมอภาคเท่าเทียมกัน พระราชาในคติพุทธศาสนาจึงเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่สูงส่งด้วยคุณธรรมความดี และชาติกำเนิด ด้วยเหตุที่พระราชาหรือผู้ปกครองมาจากมนุษย์ด้วยกัน หรือมนุษย์เหมือนกันกับประชาชนทั่วไป จึงได้นำไปสู่ลักษณะเฉพาะของการปกครองแบบพุทธ ที่เรียกว่า ระบอบถือธรรมเป็นสำคัญ (ธรรมาธิปไตย)เพราะเหตุที่ถือธรรมเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการปกครอง ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระปฐมบรมราชานุสรณ์ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม ดังนั้น สังคมเราจึงคุ้นเคยกับธรรมของผู้ปกครอง ที่เรียกว่าทศพิธราชธรรม โดยนักการเมืองในฐานะที่จะต้องเป็นนักปกครองจึงต้องมีธรรมะในเรื่องทศพิธราชธรรม ซึ่งประกอบด้วย
) ทาน การให้ คือ การแบ่งปันช่วยเหลือสละทรัพย์สิ่งของเงินทองเพื่อการกุศลบำรุงเลี้ยง ช่วยเหลือประชาราษฎร์และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
๒) ศีลความประพฤติดีงาม คือ สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริตรักษากิตติคุณให้ควรเป็นตัวอย่างและเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์มิให้มีข้อใดที่ใครจะดูแคลน
๓) บริจจาคะการบริจาคเสียสละความสุขสำราญตลอดจนชีวิตของตนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
๔) อาชชวะความซื่อตรงคือ ซื่อตรง ทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจไม่หลอกลวงประชาชน
๕) มัททวะความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัยไม่เหย่อหยิ่งหยาบคายกึ่งตัว มีความสง่างามเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่นนวลละมุนละไมให้ได้ความรักภักดีแต่มิขาดยำเกรง
๖) ตปะความทรงเดช คือแผดเผากิเลศตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญ หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ท ากิจให้บริบูรณ์
๗) อักโกธะความไม่โกรธคือไม่กริ้วกราดลุอำนาจความโกรธจนเป็นเหตุให้วินิจฉัยและกระทำการต่างๆผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำไว้ระงับความเคืองขุ่น วินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตัวเอง
๘) อวิหิงสาความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น การเก็บภาษีขูดรีด หรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาดไม่หลงระเริงอำนาจขาดความกรุณาหาเหตุเบียดเบียน ลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใดเพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง
๙) ขันติความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำกึ่งจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไรก็ไม่ท้อถอยกึ่งจะถูกหยั่งถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใดก็ไม่หมดกำลังใจไม่ยอมละทิ้งกรณีที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม
๑๐) อวิโรชนะความไม่คลาดธรรม คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหวเพราะถ้อยคำที่ดีร้ายลาภ สักการะสถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรมก็ดีนิติธรรม คือระเบียบแบบแผนหลักการปกครองตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามคือไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป
๑๑) ธรรมะสำหรับนักการเมืองตามแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุกำหนดธรรมะสำหรับนักการเมืองต้องถือปฏิบัติดังนี้[๘]
๑๑.๑) ธรรมะในส่วนที่เรียกว่าการเมือง มีความหมายอย่างไรก็ต้องเอาความหมายนั้นมา เป็นคุณสมบัติของนักการเมือง เรียกว่าธรรมะสำหรับนักการเมือง เช่น ธรรมะ ที่ตรงตามตัวธรรมสัจจะคือข้อเท็จจริงที่จะทำให้บ้านเมืองอยู่เป็นผาสุกนักการเมืองก็จะต้องมี
๑๑.๒) นักการเมืองต้องเป็นปูชนียบุคคลเสียสละอย่างพระโพธิสัตว์คือ บุคคลที่มีปัญญาไม่เห็นแก่ตัวทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อผู้อื่น เสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อส่วนรวม
๑๑.๓) นักการเมืองต้องฝากชีวิตจิตใจกับพระเจ้า ให้เป็นคนของพระเจ้า เหมือนกับพระโพธิสัตว์ทุกองค์รับใช้พระอาทิพระพุทธะ คือ การหันมาให้ความสนใจกับพระธรรม ซื่อตรงต่อหน้าที่ หยุดการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ที่ล้วนแล้วแต่เป็นคนของประโยชน์แห่งตัวกู-ของกูเป็นการให้ความสำคัญและแสวงหาประโยชน์ส่วนรวม
๑๑.๔) นักการเมืองต้องเป็นสัตบุรุษ คือ พระอรหันต์ที่ระงับ คือ หมดกิเลสแล้วสัตบุรุษจะต้องตั้งต้นด้วยการเกลียดบาป หรือเกลียดการทุจริตเกลียดความชั่ว ปลงสังขารจึงจะสงบรำงับไปจากความชั่ว ทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ
๑๑.๕) นักการเมืองจะต้องจัดระบบการเมืองของตน ให้ประกอบด้วยธรรม ระบบการเมือง หมายถึงวิธีการ ที่จะเลือกเอาให้เหมาะสมแก่สถานการณ์ของตน แต่ต้องประกอบไปด้วยธรรม
สรุปได้ว่า การระงับตัญหาหรือความอยากของมนุษย์เป็นไปได้ยาก เพราะอะไรผู้ทุกท่านตอบได้แน่นอน แต่หากเปรียบเทียบกับสัตว์ ก็คือ นักล่า สัตว์มนุษย์กินทุกอย่าง เพราะมนุษย์ก็เป็นนักล่าตัวยงอยู่แล้ว ไม่มีสัตว์ให้ล่าก็กินพืช แม้แต่กินกันเองก็ยังกินเลย หลายศาสนากล่าวถึงแต่ธรรม แต่ธรรมก็คือ ธรรมชาติ ธรรมดา ความจริง ที่มีอยู่แล้ว การที่จะแก้ความอยากไม่มีหรอก การปฏิบัติที่ยากจะนำไปสู่ความเบื่อหน่าย จนกระทั่งปัจจุบันนี้ อ้างนี้ปลดทุกข์ อ้างโน้นปลดทุกข์ พระยังเป็นหนี้เลย

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

ธีรภัทร์   เสรีรังสรรค์.   จริยธรรมของนักการเมือง. นนทบุรี: สาขาวิชารัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัย
สุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๔๙.
              . การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่าด้วยเทคนิค
การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและการใช้ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์
รัปชัน. นนทบุรี: สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๔๙.
              . นักการเมืองไทย : จริยธรรม ผลประโยชน์ทับซ้อน การคอร์รัปชัน สภาพปัญหา
สาเหตุ ผลกระทบ แนวทางแก้ไข.  พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร:
สำนักพิมพ์สายธาร, ๒๕๕๓.
พุทธทาสภิกขุ, พุทธทาสภิกขุกับการแนะแนวทางการดำเนินชีวิต, บทความวารสาร
มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดย สมเจตน์  ผิวทองงาม ๒๕๔๙.
สมบัติ  ธำรงธัญวงศ์, การเมืองอังกฤษ. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพมหานคร: พิมพลักษณ์
คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ๒๕๔๘.




[๑] โชติ  มหาชัยฤทธิพรและคนอื่น ๆ.นักการเมืองพันธุ์ใหม่ : ทางรอดประเทศไทย (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, ๒๕๕๒), บทคัดย่อ.
[๒] โชติ  มหาชัยฤทธิพรและคนอื่น ๆ, ๒๕๕๒), บทคัดย่อ.
[๓] ธีรภัทร์   เสรีรังสรรค์.  นักการเมืองไทย : จริยธรรมทางการเมือง ผลประโยชน์ทับซ้อน การคอร์รัปชัน สภาพปัญหา สาเหตุ ผลกระทบ และแนวทางแก้ไข. (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน ๒๕๔๙), หน้า  ๒๘-๓๕.
[๔] ธีรภัทร์   เสรีรังสรรค์. การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่าด้วย เทคนิคการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและการใช้ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชัน. (นนทบุรี: สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ๒๕๔๙), หน้า ๓๖.
[๕] ธีรภัทร์  เสรีรังสรรค์.  นักการเมืองไทย : จริยธรรม ผลประโยชน์ทับซ้อน การคอร์รัปชัน สภาพปัญหา สาเหตุ ผลกระทบ แนวทางแก้ไข.  พิมพ์ครั้งที่ ๒. (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สายธาร ๒๕๕๓,) หน้า ๔๔-๔๕.
[๖] สมบัติ  ธำรงธัญวงศ์, การเมืองอังกฤษ. พิมพ์ครั้งที่ ๕. (กรุงเทพมหานคร: พิมพลักษณ์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ๒๕๔๘), หน้า ๓๐-๓๘.
[๗] ธีรภัทร์   เสรีรังสรรค์.   จริยธรรมของนักการเมือง. (นนทบุรี: สาขาวิชารัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๔๙), หน้า ๑๘.
[๘] พุทธทาสภิกขุ, พุทธทาสภิกขุกับการแนะแนวทางการดำเนินชีวิต, บทความวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดย สมเจตน์  ผิวทองงาม ๒๕๔๙), หน้า ๒๖๙.

วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2554

นักปราชญ์ทางศาสนา

นอกจากนี้ยังมีการให้ความหมายหรือคำจำกัดความตามเนื้อหาที่นักปราชญ์ทางศาสนาได้ให้ไว้ ซึ่งจะแตกต่างกันไป ดังนี้
1.ดร.โรเบิต เออร์เนสต์ ฮุม เสนอไว้ 8 ข้อ
1.เน้นความหมายทางพุทธิปัญญา (Intelectual Emphasis)
2.เน้นความหมายทางศีลธรรม (Moral Emphasis)
3.เป็นความหมายทางสะเทือน (Emotional Emphasis)
4.เน้นความหมายทางการบูชา (Emphasis worship)
5.เน้นความหมายทางประโยชน์ส่วนตน Emphasis on self-advantage)
6.เน้นความหมายทางสังคม (Social Emphasis)
7.เน้นความหมายเรื่องส่วนตนของแต่ละคน (Indivividual Emphasis)
8.เน้นความหมายทางกระบวนการแห่งอุดมคติอันสูงสุด
(Emphasis on the Supeme Idealizing process)
2.Max Miller เน้นพุทธิปัญญา (Intellect) กล่าวว่า ศาสนา คือ ความสามารถหรืออำนาจทางจิตซึ่งไม่ขึ้นแก่ความรู้สึกทางประสาทสัมผัสหรือเหตุผล สามารถนำบุคคลให้เข้าถึงพระเจ้าภายใต้พระนามต่างๆ
3.Immanuel Kant เน้นศีลธรรม (Moral) กล่าวว่า ศาสนา คือ การยอมรับรู้ถึงหน้าที่ทั้งปวง ตามเทวโองการ
4.Allen Menses เน้นการบูชา (Worship) กล่าวว่า ศาสนา คือ การบูชาพลังที่สูงกว่า
5.Edward Scribner Ams เน้นสังคม (Society) กล่าวว่า ศาสนา คือ ความรู้สึกถึงคุณค่าทางสังคมอันสูงสุด
6.G.W. Stratton เน้นอุดมคติอันสูงส่ง (Supreme Ideal) กล่าวว่า ศาสนา คือ ความนิยมชมชอบถึงโลก
7.Adams Brown เน้นชีวิต (Life) กล่าวว่า ศาสนา หมายถึงชีวิตของบุคคลในส่วนที่สัมพันธ์กับท่านผู้เหนือมนุษย์ธรรมดาของเขา
8.หลวงวิจิตรวาทการ เน้นองค์ประกอบของศาสนา กล่าวว่า คำสอนที่จัดเป็นศาสนานั้นต้องเป็นเรื่องที่ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ มีคำสอนทางจรรยา มีศาสดา มีคณะบุคคลที่รักษาความศักดิ์สิทธิ์และคำสอนไว้ เช่น พระหรือนักบวช และมีการกวดขันเรื่องความจงรักภักดี
9.ศ. เสถียร พันธรังสี เน้นลักษณะของศาสนา กล่าวว่า ลักษณะที่เรียกว่าศาสนาได้ มีหลักดังนี้คือ ต้องเป็นเรื่องความเชื่อถือได้โดยมีความศักดิ์สิทธิ์ มีคำสอนทางธรรมจรรยา มีศาสดา และมีผู้สืบต่อคำสอนที่เรียกว่าพระหรือนักบวช
10.อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เน้นลักษณะคำสอน กล่าวว่า คำสอนที่นับว่าเป็นศาสนานั้นว่าด้วยเรื่องต่าง ๆ คือ ความเชื่อในอำนาจที่มองเห็นไม่ได้ด้วยตาบางอย่าง เช่น อำนาจของธรรม หรือ อำนาจของพระเจ้า มีหลักศีลธรรม มีคำสอนว่าด้วยจุดมุ่งหมายสูงสุดแห่งชีวิต และมีพิธีกรรม
11.พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของศาสนาไว้ว่า ศาสนา คือ ลัทธิความเชื่อถือของมนุษย์อันมีหลักแสดงกำเนิดและสิ้นสุดของโลก เป็นต้น อันเป็นไปในง่ายปรมัตถ์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับบุญบาปอันเป็นไปในง่ายศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทำตามความเห็นหรือตามคำสั่งสอนในความเชื่อถือนั้นๆ
ความเชื่อทั้งหลายในยุคก่อนประวัติศาสตร์

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

อุปสรรคการเผยแพร่พุทธศาสนาในอินเดีย

การสูญสลายไปของพุทธศาสนาจากอินเดียนับเป็นเรื่องน่าเศร้าในประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งชาวอินเดียก็ยังงงกับชะตากรรมของศาสนาที่เคยกุมชะตาชีวิตชาวอินเดีย และแนวคำสอนบางอย่างที่แฝงอยู่ในลัทธิฮินดู และเมื่อภัยต่าง ศาสนาที่สำคัญในอดีตของพุทธศาสนาคือมุสลิมก็ไม่มีบทบาทอีกแล้วในอินเดีย หลายคนจึงตั้งความหวังลึก ๆ ว่า พุทธศาสนาน่าจะกลับมารุ่งเรืองอีกในแผ่นดินมาตุภูมิ ดังคำที่ท่านบัณฑิต เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียคงไม่เป็นอินเดีย" หรือว่า "ข้าพเจ้าไม่ได้นับถือศาสนาใด แต่ถ้ามีการบังคับให้นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งแล้ว ข้าพเจ้าเลือกเอาพุทธศาสนา" ท่านบัณฑิตเนห์รูเองก็ยังหวังให้พุทธศาสนากลับมาอยู่ในใจชาวอินเดียอีก ส่วนดร.เอ็มเบ็ดการ์ กล่าวว่า "ผมจะทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศพุทธศาสนาภายในเวลา ๑๐ ปี" ล้วนเป็นคำพูดที่หวังให้พุทธศาสนาฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง แต่การที่จะทำให้ประเทศที่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างมั่งคงแล้ว ให้แปรเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น จึงแทบเป็นไปไม่ได้อุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้พุทธศาสนาไม่อาจจะกลับมาเจริญได้คือ
๑. พระพุทธเจ้าเป็นอวตารของฮินดู
ทฤษฎีนี้ยังฝังรากลึกในคนอินเดียโดยทั่วไปโดยเฉพาะชาวฮินดู แต่ชาวซิกซ์ คริสเตียน หรือมุสลิมหรือเชนกลับไม่เชื่อเรื่องนี้ ความจริงไม่ใช่เฉพาะพุทธศาสนาเท่านั่นที่ฮินดูต้องการรวมหัวรวบหาง ทั้งเชนและซิกซ์เองก็ถูกชาวฮินดูถือว่าเป็นสาขาหนึ่งของฮินดูเช่นกัน ความเชื่อนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่จะเผยแพร่พุทธศาสนาในแดนมาตุภูมิ เพราะถ้าถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นอวตารองค์หนึ่งของฮินดูแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปนับถือศาสนาพุทธใหม่ เพราะเป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว
๒. องค์กรสงฆ์อินเดียไม่เข้มแข็ง
เนื่องจากคณะสงฆ์และพุทธศาสนาในอินเดียถูกทำลายไปยาวนาน ถึง ๘๐๐ ปีมากกาว่าอายุของประเทศไทยเราเสียอีก เมื่อฟื้นฟูขึ้นมาใหม่จึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป การเผยแพร่พุทธศาสนาจะอาศัยสงฆ์อินเดียจึงเป็นเรื่องยาก เพราะหาผู้มีความรู้ได้น้อย ขาดการอุปถัมภ์ บางรูปกิริยามารยาทไม่นำพาต่อการเลื่อมใส ตำราที่สึกษาก็ยังมีน้อย วัดที่จะจำพรรษาก็ยังไม่ค่อยมี จึงเป็นเรื่องลำบาก
๓. ชาวฮินดูต่างยึดมั่นในศาสนา
จุดหมายของการเผยแพร่พุทธศาสนาในอินเดียก็คือต่อชาวฮินดูอันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คงไม่สามารถเผยแพร่ต่อชาวมุสลิมหรือเชนได้ แต่เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว ชาวฮินดูไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือเศรษฐีต่างยึดมั่นในคำสอนและประเพณีทางศาสนาอย่างเคร่งครัด ศาสนาและประเพณีสามารถครอบคลุมวิถีชีวิตของพวกเขาได้อย่างลึกซึ้ง การที่ไปเผยแพร่ให้พวกเขามานับถือศาสนาใหม่ จึงเป็นเรื่องยากพอสมควร
๔. พระสงฆ์เถรวาทไม่งดเนื้อสัตว์
การถือมังสวิรัติคือ เว้นจาการทานเนื้อ เป็นเรื่องที่ชาวอินเดียฮินดูทำอย่างเข็มงวด และพวกเขาตั้งแนวคิดไว้ว่าพระในศาสนาพุทธเอง ก็คงเว้นการฉันเนื้อซึ่งเป็นประเพณีมาตั้งแต่พระเจ้าอโศกมหาราช แต่เมื่อมาเห็นว่านักบวชในศาสนาพุทธโดยเฉพาะฝ่ายเถรวาทยังฉันเนื้อหรือบางองค์สูบบุหรี่อยู่ พวกเขาก็เบือนหน้าหนี ความศรัทธาเลื่อมใสก็คงไม่เกิด การเว้นจากการทานเนื้อและบุหรี่จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับที่จะทำศรัทธาที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นในสังคมอินเดีย
๕. ขาดผู้สอนที่อดทนทุ่มเทอย่างจริงจัง
ผู้ที่จะเป็นพระธรรมทูต เพื่อเผยแพร่ในอินเดียต้องมีความเสียสละอดทนกับสภาพอากาศที่เลวร้าย อาหารที่ไม่ถูกปาก นิสัยใจคอคนที่แตกต่าง ต้องมีความประพฤติดี ต้องอดทนต่อคำส่อเสียด คำด่าขอางพวกนอกศาสนา นอกจากนั้นยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นบางอย่างได้เหมือนกับบาทหลวงชาวคาทอลิค ซึ่งประสบความสำเร็จสามารถเปลี่ยนชาวอินเดียมานับถือศาสนาคริสต์เกือบ ๒๒ ล้านคนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการฟื้นฟูพุทธศาสนาในอินเดีย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมากบ้างน้อยบ้างปัจจุบันการเปลี่ยนศาสนามานับถือพุทธศาสนายังมีอยู่ต่อมาทั้งที่นาคปูร์ เดลี และพุทธคยา เช่น วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๕ ชาวฮินดูวรรณะต่ำก็ได้หันเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาที่พุทธคยาราว ๒๐๐ คน โดยมี ท่านปรัชญาศีล อดีตเลขานุการคณะกรรมการดูแลพระเจดีย์พุทธคยาเป็นผู้ให้ศีลและรับเข้าในศาสนา การเปลี่ยนศาสนาของพวกเขาได้รับการประณามจากชาวฮินดูวรรณต่ำที่เดลลีเปลี่ยนศาสนาโดยขอใช้บริเวณสนามกีฬาเป็นที่ชุมนุม แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจนสุดท้ายต้องอาศัยสวนสาธารณะเป็นต้น การหันเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาของพวกเขาโดยมากเพียงเพื่อหวังยกระดับ ยกฐานะของตนเองให้สูงขึ้นในสังคมอินเดีย เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ถูกรังเกียจเหยียดหยาม และไม่ได้รับการเหลียวแลมานาน แม้ว่าพวกเขาเหล่านี้จะเป็นคนชั้นต่ำ แต่ก็เป็นการเพิ่มปริมาณผู้นับถือพุทธศาสนาได้พอสมควร

ที่มา : หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย เขียนและรวบรวมโดยพระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ พระธรรมทูตสายต่างประเทศรุ่นที่ ๙ ,
http://www.dhammathai.org/buddhism/india/index.php,7/กันยายน/2554.
ประวัติศาสตร์

พระทีปังกรศรีชญาณ (Dipankarasrijnana)

พ.ศ. ๑๒๒๕ มีนักปราชญ์ ผู้โด่งดังท่านหนึ่งไปประกาศพุทธศาสนาในธิเบตจนมีชื่อเสียงโด่งดัง และมรณภาพที่นั้น ท่านคือพระทีปังกรศรชญาณหรือพระอตีศะ เกืดในวรรณกษัตริย์ โดยพระบิดาเป็นกษัตริย์นามว่ากัลยาณศรี (Kalyanasri) และมารดานามว่าศรีประภาวดี (Sriprabhavati) เกิดเมื่อ พ.ศ.๑๒๒๕ ในเมืองชาฮอร์ แคว้นภคัลปุระ (ปัจจุบันอยู่ในเขนเบงกอลตะวันตก) อินเดียภาคตะวันออก โดยพระบิดามีโอรส ๓ พระองค์คือเจ้าชายปัทมครรภ์ เจ้าชายจันทรครรภ์ (ต่อมาคือพระทีปังกรศรีชญาณ) และเจ้าชายศรีครรภ์
ต่อมาได้เดินทางไปบวชเป็นสามเณรที่มหาวิทยาลัยนาลันทากับพระอาจารย์โพธิภัทร โดยไม่ได้บวชที่มหาวิทยาลัยวิกรมศิลา ทั้งที่ตั้งอยู่รัฐเบงกอลและไม่ไกลจากพระราชวังของพระองค์ ทั้งนี้เพราะต้องการลดความมานะถือตัวลง เมื่อบวชแล้วจึงได้ฉายาว่า พระทีปังกรศรีชญาณ
ในสมัยนี้นิกายมนตรยานกำลังเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงฝากตัวเป็นศิษย์ สิทธะคนหนึ่งชื่อว่า พระนโรปะ นักปราชญ์ชื่อังในสมัยนั้น ศิษย์ที่มีชื่อเสียงของสิทธะนโรปามีหลายท่านเช่น พระปรัชญารักษิต กนกศรี และมาณกศรี ต่อมาท่านจึงเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยวิกรมศิลาใกล้บ้าน ท่านเดินทางไปสุมาตราเพื่อศึกษาธรรมกับพระธรรมปาละพระเถระที่มีชื่อเสียงที่นั่น หลังจากอยู่ได้ ๑๒ ปีจึงเดินทางกลับสู่วิกรมศิลา และต่อมาได้รับการอาราธนาไปสู่ธิเบต ท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงอย่างสูงสุด และมรณภาพที่นั่นรวมอายุ ๗๓ ปี
ครั้นถึงสมัยพระเจ้าเทวปาละ ราวพ.ศ.๑๒๔๕ แห่งราชวงศ์ปาละได้ครองราชย์สมบัติต่อจากพระบิดา พระองค์เป็นพุทธมามกะที่เข้มแข็งเช่นเดียวกับพะรบิดา ต่อมาได้สร้างมหาวิทยาลัยวิกรมศิลาขึ้น (Vikramasila University) สมัยของพระองค์วัดและสถานศึกษาทางพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์จากพระราชวงศ์และพุทธบริษัทเป็นอย่างดี โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยสามแห่งในคือนาลันทา โอทันตบุรี วิกรมศิลา พระองค์สวรรคต เมื่อ พ.ศ. ๑๒๙๖ รวมเวลาที่ครองราชย์ที่ยาวนาน ๕๑ ปีพ.ศ.๑๒๔๗ พระเจ้าตริสองเดซัน กษัตริย์แห่งธิเบต ได้อาราธนาพระสงฆ์ชาวอินเดียหลายรูปไปฟื้นฟูพุทธศาสนาที่ธิเบต แต่ที่มีชื่อเสียงคือพระอาจารย์ศานตรักษิต แต่ท่านเป็นพระนักวิชาการไม่มีอิทธิฤทธิ์เวทย์มนต์คาถา เมื่อต้องมาเผชิญหน้ากับศาสนาบอน ศาสนาเจ้าถิ่นที่เต็มไปด้วยเวทย์มนต์ คาถาหมอผี ภูติผีปีศาจจึงเห็นว่าจะสู้ไม่ไหว ผู้ที่จะมาเผยแพร่ได้ต้องมีเวทย์มนต์คาถาเช่นกันจึงจะสู้ได้ จึงเสนอไปยังพระเจ้าตริสองเดซันให้อาราธนาพระปัทมสัมภวะ พระสงฆ์นิกายมนตรยานมาปราบ พระองค์เห็นด้วย จึงได้ส่งคนไปอาราธนาท่านปัทมสัมภวะมาเผยแพร่ธรรมที่ธิเบต ท่านรับคำอาราธนาแล้วเดินทางเข้าไปธิเบต งานของท่านประสบผลสำเร็จอย่างมาก เพราะท่านเป็นพระจอมขมังเวทย์ สามารถปราบปรามพวกพ่อมดหมอผี ศาสนาบอนลงได้ พวกเขาหันกลับมานับถือพุทธศาสนาจำนวนมาก ส่วนภูติผีปีศาจก็หันมาปกป้องพุทธศาสนาแทน ท่านปัทมสัมภวะ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานพุทธศาสนา ให้มั่นคงในธิเบตจนถึงปัจจุบัน แม้พุทธศาสนาจะเข้าไปธิเบตราว พ.ศ. ๑๑๖๓ สมัยพระเจ้าสองสันคัมโปแล้วก็ตาม
ในยุค พ.ศ. ๑๒๕๕ กองทัพอิสลามนำโดยโมฮัมหมัด เบนกาซิม (Muhammad Bin Qazim) ได้เริ่มรุกสู่เอเชียตะวันออกยึดได้หลายเมืองในเอเชีย เช่น ซีเรีย อียิปต์ ต่อมาจึงยกทัพยึดอินเดียภาคเหนือทั้งปัญจาป สินธุ์ คันธาระแล้วปกครองอยู่ยาวนาน ๓๐๐ ปี เมื่อยึดได้แล้ว พุทธศาสนาก็ถูกทำลายลงอย่างมาก เพราะอินเดียตะวันตกมีอารามนับหมื่นและพระสงฆ์นับแสน แต่ทัพมุสลิมไม่อาจรุกเข้าภาคกลางได้ เพราะการด้านทางของกษัตริย์ราชบุตรของอินเดียในภาคกลาง กษัตริย์เหล่านี้ยังสามัคคีกันอย่างดีเพื่อด้านการรุกรานจากกองทัพมุสลิมอาหรับ ในขณะที่ตอนเหนือของอินเดียถูกกองทัพมุสลิมยึดได้อย่างเด็ดขาด และพุทธศาสนาก็ถูกกวาดล้างลง ต่อมากองทัพมุสลิมนำโดย มาหมุด ฆัสนี ได้ยกกองทัพรุกรานอินเดีย ภาคเหนือและภาคตะวันตก เช่น กันยากุพยะมถุรา พาราณสี และกรันชาร์ และยกทัพเข้าโจมตีโสมนาถวิหารของชาวฮินดู ขนทรัพย์สมบัติจากวัดไปเป็นจำนวนมหาศาลพร้อมกันนั้น รูปปั้นพระศิวะและโบสถ์ก็ถูกทำลายลง แม้จะได้รับคำวิงวอนจากนักบวชฮินดูแค่ไหนก็ตาม

ที่มา : หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย เขียนและรวบรวมโดยพระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ พระธรรมทูตสายต่างประเทศรุ่นที่ ๙ ,
http://www.dhammathai.org/buddhism/india/index.php,7/กันยายน/2554.
ประวัติศาสตร์

พระโพธิรุจิ (Bodhiruchi)

ท่านเกิดเมื่อราว พ.ศ.๑๒๐๐ เดิมชื่อว่าธรรมรุจิ เกิดในตระกูลพราหมณ์กาศยปโคตร ในอินเดียภาคใต้ เมื่อได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุจึงฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านยศฆาะ ชั่วเวลา ๓ ปี ท่านก็เป็นผู้ชำนาญในพระไตรปิฎก นอกจากศึกษาทางด้านพุทธศาสนาแล้ว ท่านยังชำนาญในหลายสาขาเช่นดาราศาสตร์ แพทยศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และเทววิทยาเป็นต้นต่อมาเมื่อไปสู่จีนโดยทางเรือ เพราะตอนเหนือของอินเดียถูกกองทัพมุสลิมยึดครองแล้ว ย่อมเป็นการไม่สะดวกอย่างยิ่ง เมื่อถึงเมืองจีนแล้วจึงได้เปลี่ยนเป็นโพธิรุจิตามพระบัญชาของพระจักรพรรดินีวูเต้าเทียนแห่งราชวงศ์ถัง ท่านได้แปลหนังสือเป็นภาษาจีน ๕๓ เล่มออกสู่ภาษาจีน หนังสือที่สำคัญคือ รัตนเมฆสูตร ปรัชญาปารมิตาอรรถศติกา มหารัตนกูฏสูตร สมันตมุขปริวรรต วินัยวินิจฉัยอุปาลิปริปฤจฉา ไมเตรยปรปฤจฉา โพธิสัตวจรรยาวรรคสูตร รัตนเมฆสูตร สูตรแห่งมหายาน มัญชุศรีรัตนนครำภธาณีสูตร แต่หลายเล่มก็ได้สูญหายในเวลาต่อมา วาระสุดท้ายท่านก้มรณภาพอย่างสงบในแผ่นดินจีน รวมอายุยายนานถึง ๑๕๖ ปี
ที่มา : หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย เขียนและรวบรวมโดยพระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ พระธรรมทูตสายต่างประเทศรุ่นที่ ๙ ,
http://www.dhammathai.org/buddhism/india/index.php,7/กันยายน/2554.

ประวัติศาสตร์

จดหมายเหตุพระอี้จิง (I-Tsing)

พระอี้จิงเกิดเมื่อราว พ.ศ. ๑๑๗๘ ที่ฟันหยางใกล้กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน หลังจากพระถังซัมจั๋งกลับเมืองจีนท่านมีอายุ ๑๐ ปี เมื่ออายุได้ ๑๔ ปีก็บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุครบ ๒๐ ท่านได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุหลังจากได้ศึกษาพระธรรมอย่างช่ำชองแล้ว จึงเกิดแนวคิดที่จะไปสืบพระศาสนาในอินเดีย
ต่อมาท่านเดินทางเข้าสู่ประเทศอินเดียต่อจากพระถังซัมจั๋งไม่นานนัก เมื่ออายุ ๓๗ ปี ผ่านทางทะเล โดยแวะที่สุมาตราเป็นเวลา ๘ เดือน ผ่านอาณาจักรศรีวิชัย พัก ๖ เดือน พักที่มาลายู ๒ เดือนจนถึงฝั่งที่อินเดียที่ตามรลิปติ
จากนั้นเดินทางเข้ามคธ ได้สักการะสังเวชนียสถาน และศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ๑๐ ปี และกลับเส้นทางเดิมโดยแวะศึกษาภาษาสันสกฤตที่อาณาจักรศรีวิชัย ๔ ปี ได้รับการต้อนรับจากราชสำนักเป็นอย่างดี ท่านได้กล่าวถึงอาณาจักรศรีวิชัย ไว้ว่า "อาณาจักรศรีวิชัยนั้นพุทธศาสนารุ่งเรืองเหมือนในอินเดีย มีพระสังฆราชชื่อว่าศากยเกียรติ (Sakyakirti) เป็นประมุขสงฆ์ เมืองชั้นใหญ่น้อยหลายร้อยเกาะ พระจีนที่จะไปอินเดียควรเตรียมตัวเรียนสันสกกฤตที่นี่ก่อน"
ท่านยังกล่าวอีกว่า "ที่ฟูหนำ (หรือ พนม) มีเมืองหลวงชื่อว่าอินทรปุระ (Indrapura) พระราชาแห่งเมืองนี้นามว่า พระเจ้าถรวรมัน (Tharvarman) ทรงนับถือศาสนาฮินดูอย่างเคร่งครัด และเริ่มทำลายพุทธศาสนาอย่างหนัก แต่เทิดทูนบูชาศิวลิงค์ทอง"
พำนักอยู่ในอินเดียเป็นเวลา ๒๕ ปี ท่านพูดภาษาถิ่นในอินเดียได้อย่างคล่องแคล่ว ผลงานของท่านหลายเล่มได้ถูกพิมพ์เช่นเดียวกับพระถังซัมจั๋ง หนังสือที่เด่นคือ "บันทึกเรื่องพุทธศาสนาตามที่ปฏิบัติกันในอินเดีย และหมู่เกาะมาลายู" ในหนังสือเล่มนี้ท่านได้ไปกราบพระเจดีย์ที่พุทธคยา และเขียนรายงานเกี่ยวกับพุทธคยาว่า
"หลังจากนั้น พวกเราก็ได้เดินทางไปที่มหาโพธิมณฑล ใกล้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และได้ก้มกราบแทบพระบาทแห่งพุทธปฏิมา ข้าพเจ้าได้นำผ้าหนาและเนื้อดีซึ่งพระและฆราวาสถวายที่ชาตุงมาทำเป็นผ้ากาสาวพัสดุ์บูชาและห่อห่มที่องค์พระพุทธปฏิมา ข้าพเจ้าได้ถวายฉัตรขนาดเล็กจำนวนมากที่ท่านอาจารย์ฝ่ายวินัยชื่อเหียนฝากมาในนามท่าน ท่านอาจารย์เซน (ธยาน) ชื่อว่า อันเต๋า มอบหมายหน้าที่ให้บูชาพระพุทธเจดีย์ และข้าพเจ้าได้ทำหน้าที่ในนามของท่านเช่นกัน ในขณะนั้นข้าพเจ้าได้หมอบตัวลงพื้นด้วยจิตใจที่แน่วแน่ ด้วยความตั้งใจและด้วยความเคารพอย่างสูง ครั้งแรกข้าพเจ้าได้ปรารถนา ต่อประเทศจีนว่าผลประโยชน์สี่ประการจงแผ่ขยายไปสู่สรรพสัตว์อย่างกว้างขวางในความรู้สึกในเขตแดนแห่งพระธรรมทูต และข้าพเจ้าได้เน้นย้ำถึงความปรารถนาของข้าพเจ้าที่จะรวมเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ต้นนาคะเพื่อให้เข้าถึงความรู้ที่จะไม่ทำให้เกิดใหม่อีกต่อมาข้าพเจ้าได้เดินประทักษิณรอบสานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้"
และอีกเล่มคือ "ภิกษุผู้ไปแสวงหาพระธรรมในประเทศตะวันตก" จากหนังสือเล่มนี้ทำให้เราทราบว่า มีนักแสวงบุญเป็นจำนวนมาก ได้เดินทางฝ่าอันตรายและความยากลำบากไปแสวงหาพระธรรมในประเทศอินเดีย แต่การเดินทางไปนั้นเป็นเรื่องแห่งความเศร้า เพราะแม้ว่าจะได้ผลคุ้มค่าแต่ความลำบากก็มีอยู่ทั่วไป สถานที่สำคัญ ๆ ก็อยู่ห่างไกลกัน มีคนเป็นจำนวนมากที่พยายามจาริกไปในสถานที่เหล่านั้น แต่ทำได้เพียงไม่กี่คนเพราะมีทะเลทรายขวางกั้นอยู่ ความร้อนในทะเลทรายแทบจะละลายทุกสิ่งทุกอย่างให้มอดไหม้ ทางทะเลก็เต็มไปด้วยคลื่นใหญ่เหมือนภูเขา มีปลาใหญ่พ้นน้ำสูงเท่าต้นตาล ส่วนทางบกที่ต้องผ่านเอเชียกลางผ่านเมืองสมารกันด์บากเตรีย ต้องผ่านภูเขาถึง ๑๐.๐๐๐ ลูก มีหุบเขาลึกและสูงชัน นี้คือเหตุผลว่าทำไมมีคนเดินทางไปกว่า ๕๐ คน แต่รอดมาได้พียงหยิบมือเดียวเท่านั้น ภิกษุเกาหลีเป็นจำนวนมากได้เดินทางไปอินเดียผ่านเอเชียกลาง แต่ท่านเหล่านั้นก็มรณภาพเป็นส่วนมาก ต่อมาการเดินทางผ่านเอเชียกลางยิ่งลำบากมากยิ่งขึ้นอีก เพราะเกิดการปฏิวัติในธิเบต และกองทัพมุสลิมยึดครองส่วนเหนือของอินเดียได้อย่างเด็ดขาด
ท่านอี้จิงยังได้แปลหนังสือราว ๕๖ เล่ม จาก ๔๐๐ เล่ม ที่ท่านนำมาจากอินเดียด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากพระอินเดียหลายท่านคือ ท่านสิกขนันทะ ท่านอิศวระและรูปอื่น ๆ เมื่อท่านกลับจีนได้รับการแต่งตั้งจากพระจักรพรรดินีให้เป็น "มหารัฐคุรุ" ของประเทศจีน และเป็นที่เคารพของพระจักรพรรดินีปูเช็กเทียนเป็นอย่างยิ่ง ท่านจำพรรษาที่วัดได้เฮงเลี่ยงยี่ (มหาวัฒนากุศลาราม) ซึ่งเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น มรณภาพเมื่ออายุ ๘๐ ปี ท่านได้เขียนรายงานสถานการณ์พุทธศาสนาหลายแห่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังเป็นอย่างมาก
และที่ภาคใต้ของอินเดีย ก็ได้มีพระสงฆ์ท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียง และท่านได้ไปเผยแพร่พุทธศาสนาในจีน ตามอย่างพระสงฆ์อินเดียหลาย ๆ ท่าน ท่านคือ พระโพธิรุจิ
ที่มา : หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย เขียนและรวบรวมโดยพระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ พระธรรมทูตสายต่างประเทศรุ่นที่ ๙ ,
http://www.dhammathai.org/buddhism/india/index.php,7/กันยายน/2554.

ประวัติศาสตร์

จดหมายเหตุพระถังซัมจั๋ง (Hiuen Tsang)

พระถังซัมจั๋งนามเดิมว่า เฮี่ยนจัง นามสกุลแช่ตั๋น ชาวเมืองตันหลิวมณฑลฮนาน ราว พ.ศ.๑๑๔๕ เกิดในตระกูลขุนนางเดิม บิดาเป็นนักปราชญ์ฝ่ายขงจื้อสมัยพระจักรพรรดิถังไท่จงฮ่องเต้ ครั้นอายุได้ ๑๓ ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรตามพี่ชายที่ได้บรรพชาก่อนหน้านี้แล้ว บวช แล้วเป็นคนเฉลียวฉลาดเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เมื่ออายุครบบวชก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ต่อมาเมื่อได้ศึกษาธรรมกับอาจารย์หลายท่านจึงเห็นความไม่ร่องรอยความบกพร่องของคัมภีร์ในสมัยนั้น จึงมีดำริที่จะไปสืบศาสนาและนำคัมภีร์พระไตรปิฎกจากอินเดีย แต่ไม่ได้รับอนุญาตเพราะประเทศเพิ่งเปลี่ยนรัชกาลจึงไม่อนุญาตให้คนออกนอกประเทศ ลุถึงปี พ.ศ.๒๒๗๒ จึงแอบเดินทางโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเลือกเดินทางเฉพาะกลางคืน ท่านเดินทางผ่านเมืองอู้อี้ เกาเชียง อัคนี คุจี พาลุกา ซุเย แบะจุ้ย สมารคันต์ ตุขารา กปิศะ บามิยัน ตักกศิลา ชาลันธร จนถึงอินเดียเหนือ ได้ผ่านอุปสรรคมากมาย โดยผ่านทะเลทรายโกบีและตามสายทางที่ผ่านมามองเห็นกองกระดูกเรียงราย ท้องฟ้าว่างเปล่า บนฟ้าไม่เห็นแม้กระทั่งวิหกบิน สุดท้ายก็เดินทางมาถึงอินเดียโดยปลอดภัย ท่านรายงานสถานการณ์พุทธศาสนาของอินเดียยุคนั้นอย่างละเอียด โดยสรุปดังนี้
๑.บามิยัน (ปัจจุบันอยู่ห่างกรุงคาบูลไปทางตะวันตกของอัฟกานิสถาน) ที่นี่มีอาราม ๑๐ แห่ง พระสงฆ์หลายพันรูป ล้วนเป็นฝ่ายโลกุตตรยานสังกัดนิกายหินยานพระสงฆ์ทึ่มีชื่อเสียง ท่านอารยทูตกับอารยเสนมีความรู้ดีในพระธรรมวินัยเป็นอย่างดีที่เนินขาของนครหลวงมีพระพุทธรูปยืนจำหลัก ด้วยศิลาสูง ๑๕๐ เฉี้ยะ ถัดจากนี้ไปมีอารามและพระปฏิมาจำลักด้วยแก้ว กาจสูง ๑๐๐ เฉี๊ยะ อารามนี้มีพระพุทธไสยาสน์ยาว ๑,๐๐๐ เฉี้ยะ บรรดาพระพุทธรูปเหล่านี้ล้วนเป็นฝีมือที่ปราณีตสวยงาม นอกนั้นยังมีอารามประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วพระทันตธาตุของพระปัจเจกพุทธะในอดีต
๒.กปิศะ มีอาราม ๑๐๐ แห่ง มีอารามชื่อสาโลกที่พระโอรสพระเจ้าแผ่นดินจีนสร้างถวาย พระราชาเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัด ที่นี่มีพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงคือท่านปรัชญากร , มโนชาญโฆษา, ท่านอารยวรมัน ,คุณภัทรที่เมืองลัมพะมีอาราม ๑๐ แห่งพระสงฆ์ล้วนเป็นนิกายมหายาน
๓.คันธาระ แคว้นนี้มีนักปราชญ์ทางมหายานเกิดมากมายเช่น พระนารายณเทพ อสังคโพธิสัตว์ วสุพันธุโพธิสัตว์ ธรรมตาร มโนรถ ปารศรวเถระที่นี่มีสถานที่ประดิษฐานบาตรของพระพุทธองค์ มีสถูปที่พระเจ้ากนิษกะสร้างสูง ๔๐๐ เฉี๊ยะมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานด้านใน
๔.แคว้นอุทยาน ตั้งอยู่ระหว่างฝั่งแม่น้ำศุภวัสดุ แต่ก่อน (พระถังซัมจั๋งจะมา) มีพระสงฆ์ ๑๘,๐๐๐ รูป อาราม ๑,๔๐๐ แห่ง แต่ลดลงเหลือน้อยกว่าเดิม นอกนั้นยังมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่อีกอารามหนึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปพระเมตไตรย์โพธิสัตว์จำหลักด้วยไม้จันทร์หอม
๕.กัศมีร์ (หรือแคชเมียร์) มีอาราม ๑๐๐ แห่งพระสงฆ์ ๕,๐๐๐ รูปมีสถูปวิจิตรสวยงาม ๔ องค์ พระเจ้าอโศกเป็นองค์สร้างไว้ สถูปทุก ๆ องค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้อารามที่พระถังซัมจั๋งพำนักชื่อหุษก, ชเยนทรพระอาจารย์ผู้เป็นสังฆปาโมกข์อยู่ที่เมืองกัศมีร์นี้ เป็นผู้เคร่งพระธรรมวินัยและเชี่ยชาญในพระไตรปิฏก นอกนั้นยังมีพระเถระที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นคือ พระวิสุทธิสิงห์, พระชินพันธ์, พระสุคตมิตร, พระวศุมิตร,พระสูรยเทพ พระชินตราด เป็นต้น
๖.มถุรา มีสูปบรรจุอัฐิธาตุของพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะพระปุณณมันตานีบุตร,พระอุบาลี,พระอานนท์,พระราหุล,พระมัญชุศรีทุกปีพระสงฆ์และคฤหัสถ์จะมาชุมนุมสักการะสถูปต่าง ๆ ที่ตนเองนับถือ เช่นผู้ใฝ่อภิธรรมก็บูชาพระสารีบุตร,ผู้ใฝ่สมาธิบูชาพระโมคคัลลานะ, ผู้ศึกษาพระสูตรบูชาพระปุณณมันตานีบุตร,ผู้สนใจวินัยบูชาพระอุบาลี,สามเณรบูชาพระราหุล นอกนั้นยังมีอารามบนภูเขาที่พระอุปคุปต์เป็นผู้สร้าง
๗.กันยากุพชะ (ลัคเนาว์ เมืองหลวงของรัฐอุตรประเทศปัจจุบันมีอาราม ๑๐๐ แห่ง พระสงฆ์ราว ๑๐,๐๐๐ รูป สังกัดทั้งฝ่ายมหายานและหินยาน มีสถูป ๒ แห่งที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างขึ้น ที่เมืองนี้ท่านพำนัก ณ วัดภัทรวิหาร พระเถระที่มีชื่อเสียงแห่งกันยากุพชะคือ พระวีรเสนที่ชำนาญในพระไตรปิฎกเป็นอย่างดี
๘.อโยธยา มีพระสงฆ์หลายพันรูป มีวัดประมาณ ๑๐๐ แห่ง พระสงฆ์สังกัดทั้งมหายานและหินยาน นอกเมืองยังมีสถูปที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่พระพุทธองค์มาแสดงธรรมที่นี้ ๓ เดือน ที่นี่ท่านถูกโจรปล้น และหวังจะประหารชีวิตท่าน เพื่อสังเวยเจ้าแม่ทุรคาแต่ก็รอดมาได้ด้วยบุญบารมี
๙.โกสัมพี มีอาราม ๑๐ แห่ง พระสงฆ์ราว ๑๐๐ รูป มีวิหารใหญ่สูง ๖๐๐ เฉี้ยะ ประดิษฐานพระพุทธรูปจำหลักด้วยไม้จันทน์ โดยมีพระเจ้าอุเทนเป็นคนสร้างขึ้น นอกจากนั้นยังมีอารามของโฆสิตเศรษฐี และกุกกุฏเศรษฐีสร้างถวายพระพุทธเจ้า แต่หักพังไปบ้างแล้ว
๑๐.สาวัจตถี มีอารามหลายร้อยแห่ง พระสงฆ์หลายพันรูป โดยมากสังกันนิกายสัมมิติยะ มีซากสถูปที่ พระเจ้าปเสนทิโกศลสร้างถวายพระพุทธเจ้าซากพระเชตวันมหาวิหาร , เสาอโศก ๒ ต้น มีพระพุทธรูปทอง ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลสร้างขึ้น เมื่อคราวอาลัยที่พระพุทธองค์ไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดุสิต
๑๑. กุสินารา มีสถูปที่พระเจ้าอโศกสร้างขึ้นตรงบ้านนายจุนทะที่ได้ถวายอาหารมื้อสุดท้ายมีพระพุทธรูปก่อด้วยอิฐลักษณะสมัยมถุรา และสถูปใหญ่สูง ๒๐๐ เฉี๊ยะ ที่สร้างภายในสถานที่ปรินิพพาน ประดิษฐานอยู่ปางปรินิพพาน และเสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก
๑๒.พาราณสี เมืองนี้มีชาวพุทธน้อย โดยมากนับถือลัทธินอกศาสนา มีอารามในเมืองพาราณสีราว ๓๐ แห่ง มีพระสงฆ์ ๓,๐๐๐ รูป สังกัดนิกายสัมมิติยะของหินยาน แต่มีเทวาลัยถึง ๑๐๐ แห่ง มีนักบวชเป็นหมื่นบางคนโกนหัว แต่บางคนขมวดผมเป็นปม พวกเขาชอบเอาขี้เถ้าทาตัวบางพวกเปลือยกาย พวกเขาทำอย่างนี้เพราะต้องการบรรลุธรรม และที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (สารนาถ) มีพระสงฆ์ ๑,๕๐๐ รูป ล้วนนิกายหินยานมีสถูปของพระเจ้าอโศกสร้าง เสาหินสูงกว่า ๗๐ เฉี๊ยะ
๑๓.แคว้นมคธ มีพระสงฆ์ ๑๐,๐๐๐ รูป โดยมากเป็นฝ่ายมหายาน อารามมีมากกว่า ๕๐ แห่ง ที่เมืองนี้ยังมีเสาอโศก และแผ่นศิลารอยพระพุทธบาทอีกด้วย
๑๔.ที่แคว้นตามรลิปติ (ปากอ่าวเบงกอล สันนิษฐานว่าเป็นเมืองกัลกัตตาปัจจุบัน) มีอาราม ๑๐ แห่ง มีพระสงฆ์ราว ๑,๐๐๐ รูป สังกัดนิกายหินยาน นอกนั้นยังมีสถูป ๒๐๐ เฉี๊ยะ ที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้ด้วยมีพระราชาพระนามว่าพระกุมารราชาปกครองเมืองนี้
นอกจากนั้นท่านพระถังซัมจั๋งยังได้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทากับพระอาจารย์ศีลภัทรองค์อธิการบดี เป็นเวลาถึง ๑๕ ปี ที่นี่มีนักศึกษาราวหมื่นรูป อาจารย์พันห้าร้อยท่าน แต่ที่ได้รับยกย่องและดูแลอย่างดีมีเพียง ๑๐ รูปเท่านั้น อารามนาลันทาได้ถูกสร้างและต่อเติมมาโดยลำดับนับจาก พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าศักราทิตย์ พระเจ้าพุทธคุปตะ พระเจ้าตถาคตราชาพระเจ้าพาลาทิตย์ พระเจ้าวชิรราชา รวม ๖ พระองค์ นาลันทา เป็นสถานศึกษาฝ่ายมหายาน โดยศึกษาทั้ง ๑๘ นิกาย รวมทั้งพระเวท เหตุวิทยา ศัพทวิทยาจิกิตสาวิทยา สางขยะวิทยา เป็นต้น
มาถึงสมัยพระเจ้าหรรษวรรธนะมหาวิทยาลัยก็ได้รับการอุปถัมภ์เป็นอย่างดี ในที่สุด พระถังซัมจั๋งก็อำลาพระเจ้าหรรษวรรธนะ พระกุมารราชาแห่งเบงกอลตะวันออก และพระราชาแห่งอินเดีย ๑๘ แคว้น กลับสู่ประเทศจีน โดยกลับไปเส้นทางเดิม เมื่อเข้าสู่จีนแล้วได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพระสงฆ์และพุทธบริษัทชาวจีนที่ทราบข่าว ท่านได้รับการยกโทษที่แอบเดินทางโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษแห่งชาติ ผลงานการแปลของท่านมีมากายที่สำคัญได้แปลหนังสือสันสกฤตออกเป็นภาษาจีนถึง ๖๐๐ เล่ม ท่านขอร้องพระจักรพรรดิ์ให้ยกพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติจีนเดี่ยว ๆ แทนขงจื้ แต่ไม่สำเร็จ เพราะจีนนับถือขงจื้อมายาวนาน การที่จะยกเลิกจึงเป็นเรื่องลำบาก แม้แต่พระจักรพรรดิ์ก็ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะเสนาอำมาตย์ขุนศึกจำนวนไม่น้อยที่นับถือลัทธิขงจื้อ แม้แต่บิดาของท่านเมื่อก่อนก็นับถือขงจื้อ
เมื่อท่านมรณภาพแล้ว พระจักรพรรดิ์ถังเกาจง ทรงกำสรวญอย่างหนัก ถึงกลับตรัสว่า ประทีปของชาติได้ดับเสียแล้ว แม้ท่านจะกำชับให้ทำงานศพอย่างง่าย ๆ คือใช้เสื่อมาพันและฝังเสีย แต่พระจักรพรรคดิ์ก็ทำอย่างสมเกียรติกล่าวกันว่า มีชาวจีนมาร่วมงานศพท่านถึง ๒ ล้านคน นับว่าเป็นพระสงฆ์องค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนที่มีผู้ร่วมงานมากมายขนาดนั้น
หลังจากพระเจ้าหรรษวรรธนะเสด็จสวรรคตแล้ว อินเดียก็เข้าสู่ยุคมืดอีกครั้ง ทั้งทางการเมืองและการศาสนา ในยุคนี้มหายานได้ผสมลัทธิตันตระของฮินดูเข้าไปด้วยเรียกว่าพุทธตันตระ โดยมีหลัการ ๕ ม. คือ ๑. มัสยากินเนื้อปลา ๒. มางสะรับประทานเนื้อ ๓.เมรัย ดื่มสุรา ของเมา ๔. มุทระร่ายรำเพื่อยั่วกามารมณ์ ๕.เมถุนะ ร่วมเพศ ไม่ว่าใครก็สามารถร่วมเพศได้ เช่น มารดากับบุตร หรือบุตรกับมารดา พี่กับน้องเป็นต้น สาเหตุที่มหายานนำลัทธิตันตระของฮินดูมาใช้ เพราะต้องการสร้างความนิยมให้กับตัวเอง แต่การพัฒนานี้เท่ากับกำลังทำลายพุทธศาสนาในยุคนี้มีการสร้างพระพุทธรูปโอบด้วยนางตาราในท่าเสพเมถุน เป็นต้น
สรุปได้ว่าสมัยนี้ มีบุคคลสำคัญที่เป็นประโยชน์ ต่อพุทธศาสนาคือ พระเจ้าหรรษวรรธนะ หรือพระเจ้าศรีลาทิตย์ และพระอาจารย์เฮี่ยนจัง หรือพระถังซัมจั๋ง แต่เมื่อสิ้นบุคคลนี้แล้วพุทธศาสนา ก็เสื่อมลงอีก ต่อมายุคนี้ก็ได้มีพระสงฆ์จีน เดินทางมาศึกษาพุทธศาสนาก็เสื่อมลงอีก ต่อมายุคนี้ก็ได้มี พระสงฆ์จีนเดินทางมาศึกษาพุทธศาสนาที่อินเดียอีกท่านหนึ่งคือ พระอาจารย์อี้จิง (I-Tsing)

ที่มา : หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย เขียนและรวบรวมโดยพระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ พระธรรมทูตสายต่างประเทศรุ่นที่ ๙ ,
http://www.dhammathai.org/buddhism/india/index.php,7/กันยายน/2554.
ประวัติศาสตร์