ประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎก
พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ สมัยเมื่อใกล้จะปรินิพพานว่า ธรรมวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว
ตามหลักฐานของพระเถระฝ่ายไทย กล่าวว่า การสังคายนามี 9 ครั้ง
การสังคายนาครั้งที่ 1 กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดียปัจจุบัน กระทำหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือน มีพระอรหันต์ประชุมกัน 500 รูป พระมหากัสสปเป็นประธานและเป็นผู้สอบถาม พระอานนท์เป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระธรรม พระอุบาลี เป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระวินัย พระเจ้าอชาติศัตรูเป็นผู้อุปถัมภ์ กระทำอยู่ 7 เดือน จึงแล้วเสร็จ การสังคายนาครั้งนี้มีปรากฎอยู่ในพระวินัยปิฎก
การสังคายนาครั้งที่ 2 กระทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดียปัจจุบัน กระทำเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 100 ปี มีพระสงฆ์ประชุมกัน 700 รูป พระยสะ กากัณฑกบุตร เป็นผู้ชักชวน พร้อมพระผู้ใหญ่อีก 8 รูป พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบปัญหาทางพระวินัย ที่เกิดขึ้น กระทำอยู่ 8 เดือน จึงแล้วเสร็จ การสังคายนาครั้งนี้ มีปรากฎในพระวินัยปิฎก
การสังคายนาครั้งที่ 3 กระทำที่อโศการาม กรุงปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย กระทำเมื่อ พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 235 ปี มีพระสงฆ์ประชุมกัน 1,000 รูป พระโมคคลีบุตร ติสสเถระ เป็นหัวหน้า พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้อุปถัมภ์ กระทำอยู่ 9 เดือน จึงแล้วเสร็จ การสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคลีบุตรได้แต่งกถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์ในพระอภิธรรมเพิ่มขึ้น เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้วได้ส่ง คณะทูต ไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ พระมหินทเถระได้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในลังกา
การสังคายนาครั้งที่ 4 กระทำที่อินเดียภาคเหนือ ณ เมืองชาลันทร แต่บางหลักฐานก็ว่า กระทำที่เมืองกาษมีระหรือแคชเมียร์ ภิกษุที่เข้าประชุมมีทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน กระทำเมื่อ พ.ศ. 643 มีกษัตริย์ประเทศราชมาร่วม 21 พระองค์ มีทั้งพระสงฆ์ผู้คงแก่เรียนและพราหมณ์ผู้ทรงความรู้ประชุมกัน การสังคายนาครั้งนี้จึงมีลักษณะผสมคือ มีทั้งพุทธและพราหมณ์ ภาษาที่ใช้สำหรับพระไตรปิฎกไม่เหมือนกัน คือฝ่ายเถรวาทใช้ภาษาบาลี ฝ่ายมหายานใช้ภาษาสังสฤต (บางครั้งก็ปนปรากิต) การสังคายนาครั้งนี้ ไม่มีบันทึกหลักฐานทางฝ่ายเถรวาท
*การนับสังคายนาของไทย
ไทยเรายอมรับรองการสังคายนาครั้งที่ 1,2 และ 3 ในอินเดีย และครั้งที่ 1, 2, 3 และ 4 ในลังกา ซึ่งกระทำเมื่อ พ.ศ. 238, พ.ศ. 433, พ.ศ. 956 และ พ.ศ. 1587 รวมกันเป็น 7 ครั้ง
การสังคายนาครั้งที่ 8 ทำในประเทศไทย เมื่อประมาณ พ.ศ. 2020 พระเจ้าติโลกราช แห่งเชียงใหม่ได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกหลายร้อยรูปช่วยกันชำระพระไตรปิฎกที่วัดโพธาราม ใช้เวลา 1 ปี จึงแล้วเสร็จ การสังคายนาครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 1 ในประเทศไทย
การสังคายนาครั้งที่ 9 ทำในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2331 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้ชำระพระไตรปิฎก มีพระสงฆ์ 218 รูป กับราชบัณฑิตาจารย์อุบาสก 32 คน ช่วยกันชำระพระไตรปิฎก แล้วจารึกลงในใบลาน แล้วเสร็จใน 5 เดือน นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 2 ในประเทศไทย
การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย
สมัยที่ ๑ ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่เมืองเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ ตัวอักษรที่ใช้ในการจารึก คงเป็นอักษรแบบไทยล้านนา ซึ่งคล้ายกับอักษรพม่า
สมัยที่ ๒ ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่กรุงเทพ ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ให้ชำระและแปลฉบับอักษรลาวและอักษรรามัญ เป็นอักษรขอม ใส้ตู้ไว้ใน หอมณเฑียรธรรม และถวายพระสงฆ์ไว้ทุกพระอารามหลวง
สมัยที่ ๓ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพ ฯ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๓๓๖ ได้คัดลอกตัวอักษรขอมในคัมภีร์ใบลาน เป็นตัวอักษรไทย และชำระแก้ไข แล้วพิมพ์เป็นเล่มหนังสือรวม ๓๙ เล่ม มีการประกาศสังคายนา แต่คนทั่วไป ไม่ถือว่าเป็นการสังคายนา พิมพ์ออกมา ๑,๐๐๐ ชุด นับว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มด้วยตัวอักษรไทย ในการพิมพ์ครั้งนี้พิมพ์ได้ ๓๙ เล่มชุด ยังไม่ได้พิมพ์อีก ๖ เล่ม มาพิมพ์เพิ่มเติมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ
สมัยที่ ๔ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพ ฯ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๓ เรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พิมพ์ ๑,๕๐๐ จบ พระราชทานในพระราชอาณาจักร ๒๐๐ จบ พระราชทานในนานาประเทศ ๔๕๐ จบ อีก ๘๕๐ จบ พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับหนังสือพระไตรปิฎก
ผลจากการส่งพระไตรปิฎกไปต่างประเทศ ทำให้มีผู้พยายามอ่านอักษรไทย เพื่อให้สามารถ อ่านพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยได้ และได้มีภิกษุชาวเยอรมันเขียนหนังสือสดุดีไว้ว่า พระไตรปิฎกฉบับ ของไทยสมบูรณ์กว่าฉบับพิมพ์ด้วยอักษรโรมัน ของสมาคมบาลีปกรณ์ในอังกฤษ เป็นอันมาก
ลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
พระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้น ๑ เรียกว่า พระบาลี
อรรถกถาหรือวัณณนา เป็นคำอธิบายพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้น ๒ มีขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๙๕๖
ฎีกา เป็นคำอธิบายอรรถกถา เป็นหลักฐานชั้น ๓ มีขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๕๘๗
อนุฎีกา เป็นคำอธิบายฎีกา เป็นหลักฐานชั้น ๔
การแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทย
การแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ได้กระทำกันมาช้านานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดแปลไว้เป็นจำนวนมาก ในรัชสมัยต่อ ๆ มา การแปลก็ยังคงดำเนินไปเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่จะแปลพระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎกและพระอภิธรรมปิฎกมีน้อย สำนวนโวหารในการแปลก็ผิดกันมาก เพราะต่างยุคต่างสมัย
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทว) วัดสุทัศน์เทพวราราม ทรงปรารภว่า พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี ผู้ใคร่ศึกษาต้องรู้ภาษาบาลีอย่างลึกซึ้ง จึงจะศึกษาได้สมประสงค์ แม้มีผู้รู้แปลสู่ภาษาไทยอยู่บ้าง ก็เลือกแปลเฉพาะบางตอน ไม่ตลอดเรื่อง ถ้าสามารถแปลจบครบบริบูรณ์ ก็จะเป็นอุปการคุณแก่ พุทธบริษัทชาวไทยอย่างใหญ่หลวง ในต่างประเทศ ได้มีนักปราชญ์อุตสาหะแปลบาลีพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท ออกเป็นภาษาของเขาแล้ว สำหรับฝ่ายมหายานนั้น ได้มีการแปลพระไตรปิฎก จากฉบับภาษาสันสกฤต ออกเป็นภาษาของชาวประเทศที่นับถือลัทธิมหายาน มาแล้วช้านาน การที่นักปราชญ์ดังกล่าวจัดแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาของเขา ก็ด้วยเห็นประโยชน์ที่มหาชนชาวประเทศนั้น ๆ จะพึงได้รับการศึกษาพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ จึงเป็นการสมควรด้วยประการทั้งปวง ที่จะคิดจัดแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยให้ตลอดสาย จะเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติแห่งพระมหากษัตริย์ และประเทศไทยให้ปรากฎไปในนานาประเทศ แต่เนื่องด้วยการนี้เป็นการใหญ่ เกินวิสัยที่เอกชนคนสามัญจะทำให้สำเร็จได้ จึงขอให้กระทรวงธรรมการ นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้รับการจัดแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถวายให้สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานในการนี้ ให้กรมธรรมการเป็นผู้อำนวยการฝ่ายคฤหัสถ์ จัดพิมพ์ พระไตรปิฎกเป็นสมุดตีพิมพ์และลงในใบลาน เพื่อเผยแพร่แก่พุทธบริษัทสืบไป
คณะกรรมการแปลพระไตรปิฎก เริ่มดำเนินการแปลตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยแบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ
๑. แปลโดยอรรถ ตามความในบาลีพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ สำหรับพิมพ์เป็นเล่มสมุด เรียกว่า "พระไตรปิฎกภาษาไทย"
๒. แปลโดยสำนวนเทศนา สำหรับพิมพ์ลงใบลาน เป็นคัมภีร์เทศนา เรียกว่า "พระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวง" แบ่งออกเป็น ๑,๒๕๐ กัณฑ์ โดยถือเกณฑ์พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป เมื่อคราวจตุรงคสันนิบาตในสมัยพุทธกาล เป็นพระวินัยปิฎก ๑๘๒ กัณฑ์ พระสุตตันตปิฎก ๑,๐๕๔ กัณฑ์ พระอภิธรรมปิฎก ๑๔ กัณฑ์ พิมพ์ลงใบลานเสร็จเรียบร้อยเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลไทยดำริจะจัดทำพิธีฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ คณะสังฆมนตรีพิจารณาเห็นสมควร จัดสร้างพระไตรปิฎกภาษาไทย ซึ่งคณะสงฆ์ได้ตั้งกรรมการจัดแปล และกำลังตรวจสำนวน ทำต้นฉบับสำหรับพิมพ์อยู่แล้วนั้น เพื่อเป็นอนุสาสนีย์เนื่องในงานนั้นด้วย จึงได้กำหนดจำนวนหนังสือที่จะพิมพ์ จากจำนวนที่กำหนดไว้เดิม ๑,๐๐๐ จบ เป็น ๒,๕๐๐ จบ เพื่อให้เหมาะสมแก่งานฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ กรมศาสนาได้ดำเนินการจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ เห็นว่าจำนวนเล่มที่พิมพ์ ครั้งแรกชุดละ ๘๐ เล่ม เพื่อให้ไม่หนาเกินไป และมีจำนวนเล่มเท่าจำนวนพระชนมายุของพระพุทธเจ้า แต่ทำให้การอ้างอิงไม่ตรงกับเล่มในฉบับบาลี ซึ่งมีอยู่ ๔๕ เล่ม ในการพิมพ์ครั้งนี้จึงพิมพ์จบละ ๔๕ เล่ม และประจวบกับปี พ.ศ. ๒๕๑๔ นับเป็นมหามงคลสมัยซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาบรรจบครบ ๒๕ ปี ทางราชการได้จัดพระราชพิธีรัชดาภิเษก ถวายเป็นการเฉลิมพระเกียรติ จึงตกลงเรียกพระไตรปิฎกฉบับนี้ว่า "พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง" จัดพิมพ์จำนวน ๒,๐๐๐ จบ จบละ ๔๕ เล่ม
คัดลอกจากเว็บไซด์:พลังจิต
ความเชื่อทั้งหลายในยุคก่อนประวัติศาสตร์
ความเชื่อทั้งหลายในยุคก่อนประวัติศาสตร์อยู่ในกลุ่มของศาสนาดั้งเดิม ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้างในชนเผ่าที่ล้าหลังทางวัฒนธรรม ความเชื่อของชนพื้นเมืองทั่ว ๆ ไปมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะแกนหลักแห่งความเชื่อโดยทั่ว ๆ ไปยังคงมีลักษณะที่ร่วมกัน อันได้แก่ศาสนาและความเชื่อของมนุษย์นีแอนเดอธัล ศาสนาและความเชื่อของมนุษย์โครมันยอง ศาสนาและความเชื่อของมนุษย์ยุคหินใหม่ ศาสนาและความเชื่อของชาวอเมริกันอินเดียน ศาสนาและความเชื่อของชาวพื้นเมืองแอฟริกัน
วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ดีมากเลยค่ะ กว้างขวางดี และที่สำคัญทำให้รู้ประวัติสังคายนามากขึ้น
ตอบลบดี
ตอบลบบทความดีมาก กว้างขวางดี อ่านแล้วได้ความรู้และสาระดีมากเลย
ตอบลบขอบคุณมากค่ะ
ตอบลบ