ในการศึกษาเรื่องการศึกษาเปรียบเทียบเป้าหมายสูงสุดของศาสนาพุทธกับศาสนาคริสต์ ในบทที่ ๒ นี้ เป็นการศึกษาเป้าหมายสูงสุดของศาสนาพุทธ โดยศึกษาจากเอกสารและงานวิจัย ซึ่งมีรายละเอียดในประเด็นที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
๒.๑ นิพพานในฐานะเป้าหมายสูงสุดของชีวิต
๒.๒ ภาวะของนิพาน
๒.๓ สภาวะของนิพพานจากหลักฐานในพระไตรปิฎก
๒.๑ นิพพานในฐานะเป้าหมายสูงสุดของชีวิต
ในพระพุทธศาสนา นิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ไม่มีเป้าหมายอะไรที่ยิ่งไปกว่านี้ เป็นที่สุดเป็นที่สรุปลงแห่งการประพฤติปฏิบัติทั้งหมด พรหมจรรย์คือการประพฤติอันประเสริฐนั้น ก็มีพระนิพพานนี้เป็นเป้าหมาย เช่นที่ตรัสว่า “ราธะ ด้วยว่าพรหมจรรย์ ที่ประพฤติกันอยู่นี้แลย่อมหยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นจุดสุดท้าย” ในที่อื่นก็ตรัสว่า “พรหมจรรย์ที่บุคคลอยู่จบแล้ว มีนิพพานเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด”
พระบัญญัติทั้งหมดในนามของพระวินัยหรือศีลทั้งสำหรับบรรพชิตและคฤหัสถ์ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ ก็เพื่อป้องกันมิให้ขัดขวางต่อพระนิพพานหรือออกนอกกระแสแห่งพระนิพพานมากนัก ความจริงทั้งหมดในนามของธรรมที่พระองค์แสดง ก็เป็นไปเพื่อนิพพิทา ความเบื่อหน่าย วิราคะ ความคลายกำหนัด วิมุตติ ความหลุดพ้น วิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้เห็นในวิมุตติ คือเพื่อดำเนินไปสู่พระนิพพาน
นิพพานอันหมายถึงวิมุตติคือความหลุดพ้นอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ในบางแห่ง ท่านกล่าวไว้ในฐานะเป็นแก่นแท้ของพรหมจรรย์หรือพระศาสนา กล่าวคือในมหาสาโรปมสูตร และจูฬสาโรปมสูตร อันเป็นสูตรว่าด้วยอุปมาพรหมจรรย์กับแก่นไม้ ท่านกล่าวไว้ว่า วิมุตติ คือ ความหลุดพ้นเป็นแก่นของพรหมจรรย์ บุคคลผู้เข้ามาบวชมุ่งหวังแก่นต้องรู้จักและคว้าเอาแก่นของพระศาสนาให้ถูกเหมือนผู้เข้าไปป่าต้องการแก่นไม้ต้องรู้จักและถือเอาแก่นไม้จริงๆ ในพระสูตรดังกล่าวท่านเปรียบเทียบพรหมจรรย์นี้กับต้นไม้ว่า ผู้เข้ามาบวชที่ยินดีในลาภสักการะและการสรรเสริญ เท่ากับไปคว้าเอากิ่งและใบของต้นไม้ หากยินดีแค่รักษาศีลให้บริบูรณ์ เท่ากับไปคว้าเอาสะเก็ดไม้ หากพอใจเพียงแค่การได้ปฏิบัติและติดสุขในสมาธิเท่ากับไปคว้าเอาเปลือกไม้ หากประมาทอยู่เพียงแค่ญาณทัสสนะ คือความรู้ความเห็นหรือปัญญาในระดับหนึ่ง ซึ่งยังไม่ถึงที่สุด เท่ากับไปคว้าเอากระพี้ หากแต่ผู้ใดเพียรพยายามจนถึงที่สุด เข้าถึงวิมุตติคือความหลุดพ้นสิ้นกิเลสอาสวะทั้งปวงเสียได้ ผู้นั้นถือว่าได้แก่นของไม้ที่แท้จริง
นิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตเพราะเหตุผลดังต่อไปนี้
๒.๑.๑ นิพพานเป็นที่สุดแห่งทุกข์
ความจริงข้อสำคัญข้อหนึ่ง คือ ชีวิตเป็นความทุกข์ การได้ชีวิตมาที่เริ่มต้นจากการเกิดก็เป็นความทุกข์ และเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์อีกมาก ตามพระบาลีในธัมมจักรกัปปวัตตนสูตรที่ว่า “ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ การเกิดเป็นความทุกข์เพราะจะต้องทำงานหนักบริหารเลี้ยงดูชีวิตนี้ตลอดชั่วอายุขัย ซึ่งเป็นภารกิจที่หนักหนา ความแก่ก็เป็นทุกข์เพราะความคร่ำแก่ชราไปแห่งสังขารคือร่างกาย เป็นเหตุแห่งความเจ็บปวด แห่งความไม่สะดวกสบายในการดำเนินชีวิต ความเจ็บป่วยเป็นทุกข์เพราะสังขารร่างกายถูกเสียดแทงด้วยโรคเจ็บปวดไม่สบายกายไม่สบายใจขาดปกติภาพ ความตายเป็นทุกข์เพราะเป็นเหตุแห่งความกลัว กลัวความขาดไปสูญเสียไปแห่งชีวิต เป็นสิ่งที่ไม่ปรารถนาอย่างยิ่งแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์เพราะไม่เป็นไปตามความปรารถนา ขัดกับสิ่งที่ปรารถนา กล่าวโดยสรุป อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในชีวิต คือขันธ์ ๕ นั่นแหละเป็นความทุกข์ ความทุกข์เหล่านี้ มีสาเหตุมาจากตัณหาคือความอยาก กล่าวคือ ความอยากได้อยากมี ความอยากเป็น ความอยากในวิภพคืออยากไม่มีไม่เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากขาดสูญพรากพ้นไปจากภาวะที่ตนเกลียดชังไม่ปรารถนา เมื่อมีตัณหาก็ทำให้มีอุปาทาน เมื่อมีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ถ้าไม่เป็นไปตามความอยากก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะยึดถือ ยึดถือเพราะความอยาก ทั้งหมดก็มีพื้นฐานมาจากอวิชชาความไม่รู้จริง ความขาดปัญญาวงจรทุกข์จึงเกิดอยู่ร่ำไป
ชีวิตเป็นทุกข์ ความทุกข์เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ปรารถนาเสมอมา และมนุษย์เราก็พยายามที่จะหลีกหนีพยายามที่จะทำลายให้หมดไป ความหมดทุกข์หรือสิ้นทุกข์จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ปรารถนาอย่างยิ่ง ตราบใดที่ยังมีความทุกข์ ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ตราบนั้นก็ยังไม่ถือว่าถึงที่สุดหรือบรรลุสิ่งสูงสุดที่พึงปรารถนา
พระนิพพานเป็นที่สุดแห่งทุกข์เป็นภาวะสิ้นทุกข์ บางทีท่านใช้ในความหมายว่า การดับทุกข์ เช่น ในข้อที่ว่าด้วยความจริงเกี่ยวกับความดับทุกข์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างไรเล่า ความดับสนิทเพราะความจางคลายไปโดยไม่เหลือของตัณหา ความละไปของตัณหา ความสลัดคืนของตัณหา ความหลุดพ้นไปของตัณหา ความไม่มีอาลัยในตัณหา อันนี้เราเรียกว่า ความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์”
เมื่อตัณหาดับไม่เหลือ ทุกข์ก็ดับไม่เหลือ นิพพานจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เป็นภาวะสูงสุดที่มนุษย์มีปัญญาย่อมปรารถนา เพื่อบรรลุถึงความดับเสียได้ซึ่งความทุกข์ของชีวิตและเป็นอยู่อย่างสุข ผู้บรรลุนิพพานชื่อว่า เป็นผู้หมดทุกข์ถึงซึ่งบรมสุข เพราะนิพพานเป็นภาวะที่เป็นสุขอย่างยิ่ง เช่นที่ตรัสว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”
๒.๑.๒ นิพพานเป็นความดับไปแห่งภพ ชาติและวัฏสงสาร
ชีวิตของมนุษย์เกิดมาได้อย่างไร เป็นคำถามที่หาคำตอบได้ยาก พระพุทธศาสนาไม่สนใจที่จะตอบคำถามนี้ ยุติปัญหาเสียว่า มันไม่เป็นไปเพื่อดับทุกข์ มันไกลตัวมากไป เราควรจะสนใจกับชีวิตที่ได้มาแล้วมากกว่า และหากจะถือว่าเป็นคำตอบ พระพุทธศาสนากล่าวว่า เป็นเรื่องของธรรมชาติ
ชีวิตของมนุษย์จะเกิดมาอย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดมาแล้วพระพุทธศาสนามองว่า มันตกอยู่ภายใต้กระบวนการของธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุปัจจัย มีความเปลี่ยนแปลง มีเกิด มีตาย มีภพ มีชาติ หาเบื้องต้นและที่สุดมิได้ ตราบใดที่ยังมีกิเลสคืออวิชชาและตัญหาอยู่ ตราบนั้นก็ต้องท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ”
ชีวิตในสังสารวัฏนี้จึงวนเวียนถ่ายโอนกันของภาวะของชีวิต ตั้งแต่ภพภูมิที่ต่ำคืออบายภูมิ ได้แก่ นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ระดับกลางคือมนุสสโลกจนถึงระดับสูงคือเทวโลกและพรหมโลก ความถ่ายโอนกันแห่งภาวะของชีวิตในสงสารนี้ บัณฑิตท่านถือเอาความตามหลักพระพุทธศาสนาได้กล่าวเป็นเชิงยืนยันไว้ว่า ทุกชีวิตเคยเปลี่ยนถ่ายและเป็นอะไรกันมามากมาย “บุคคลผู้ไม่เคยเป็น(บิดามารดา บุตร) ภรรยาสามีกันในวัฏสงสารอันหาเบื้องต้นและที่สุดไม่ได้นี้ ย่อมไม่มี”
พุทธทาสภิกขุกล่าวว่า “ชีวิตนี้คือการเดินทาง”.....การเดินทางนี้แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ การเดินทางที่เป็นวงกลมอยู่ในโลก และการเดินทางที่ไม่เดินเป็นวงกลมคือเดินออกไปนอกโลก...การเดินทางที่เป็นวงกลมอยู่ในโลกนี้ เป็นการเดินทางอยู่ในวัฏสงสารคือวงกลมแห่งการวนเวียนของการเดินทางของชีวิต แม้จะไปเกิดในเทวโลก พรหมโลก ก็ยังเป็นการเดินวนอยู่ในโลก นั่นคือยังวนเวียนอยู่ยังต้องเจอทุกข์อีกไม่ถึงที่สุด
พระพุทธศาสนาสนใจว่า ทำอย่างไรจึงจะพ้นไปจากการเวียนว่ายในวัฏสงสารนี้ เพราะการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอย่างนี้เป็นความทุกข์ เช่นที่ตรัสว่า “ความเกิดบ่อยๆ เป็นความทุกข์” ทุกข์เพราะจะต้องมีการเกิดต้องบริหารขันธ์ ๕ และต้องประสบกับความทุกข์อันเกิดจากความแก่ความเจ็บป่วย การประสบสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา การพลัดพรากจากสิ่งที่ปรารถนา และการไม่ได้ตามที่ปรารถนา การพ้นไปจากวัฏสงสารเสียได้จึงเป็นความดี
นิพพานเป็นการดับไปแห่งภพ ชาติและวัฏสงสาร ความหมายในแง่นี้ หมายเอาความดับภพดับชาติและดับวัฏสงสารในความหมายแห่งวงจรปฏิจจสมุปปบาท ทั้งแบบปัจจุบันขณะแห่งวงจรของความคิดหนึ่งในชาตินี้ด้วย และแบบข้ามภพข้ามชาติในความหมายแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารด้วย อันที่จริงแล้วความดับในแบบหลังเป็นสิ่งที่เนื่องมาจากแบบแรก นั่นคือหากดับความเป็นภพเป็นชาติในวงจรแห่งความคิดในปัจจุบันได้ ก็เป็นอันดับภพดับชาติดับวัฏสงสารในแบบข้ามภพข้ามชาติได้ไปโดยปริยาย
ความหมายแบบปัจจุบันขณะแห่งวงจรความคิดนี้ เป็นกระบวนการปฏิจจสมุปบาทสายดับ คือดับตัณหาคือดับความอยากอันเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งอวิชชาเสีย ขบวนการตัวอื่นก็จะดับตามไปด้วย เช่น ในทุกขนิโรธสูตร เป็นต้น ว่าด้วยวงจรแห่งการเกิดขึ้นและการดับแห่งทุกข์อันเกิดขึ้นจากตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส ใจนึกคิดอารมณ์ เฉพาะขบวนการดับเมื่อตาเห็นรูป เป็นต้น ซึ่งแสดงว่า ตากับรูปเกิดการกระทบกัน(จักขุผัสสะ) และเกิดเป็นการรับรู้ทางตา(จักขุวิญญาณ) เกิดเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา แต่เพราะตัณหาดับไม่เหลือ อุปาทานก็ดับ และส่งผลให้ภพชาติชรามรณะโสกปริเทวทุกขโทมมนัส และอุปายาสดับตามลำดับด้วย เมื่อดับขบวนการแห่งทุกข์ได้เช่นนี้ ท่านก็เรียกว่า บรรลุธรรมเข้าถึงนิพพาน อีกตัวอย่างหนึ่งที่ท่านกล่าวว่า นิพพานคือการดับภพเสีย คือ พระอานนท์สนทนาธรรมกับพระสารีบุตรในเรื่องการเข้าสมาธิ โดยเนื้อหาว่า การเข้าสมาธิโดยไม่ปรุงแต่งหรือไม่ถือเอาอะไรเป็นอารมณ์ แต่มีสัญญาอยู่ เพียงแต่ว่าสัญญามีความเกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลา ในตอนท้ายท่านสารีบุตรจึงกล่าวว่า เมื่อท่านเข้าสมาธิในลักษณะอย่างนี้ สัญญาหนึ่งเกิดขึ้นแก่ท่านว่า “การดับภพเป็นนิพพาน” ความหมายก็คือเมื่อดับการปรุงแต่ง ดับความหมายมั่นเอา ภพหรือความเป็นก็ไม่เกิด เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คือเข้าถึงนิพพาน
ในความหมายแบบข้ามภพข้ามชาติ ถือเอาความหมายตามลักษณะผู้บรรลุนิพพานที่ท่านเรียกว่า เป็นผู้ข้ามโอฆะเสียได้ ซึ่งหมายถึงโอฆะคือสงสารในบรรดาโอฆะ ๔ คือ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ และอวิชโชฆะ ผู้ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์หลุดพ้นแล้วนั้น ถือว่าเป็นผู้มีชาติสิ้นแล้ว ท่านพุทธทาสเรียกการบรรลุนิพพานว่า เป็นวิวัฏฏะ คือไม่วนเป็นวงกลมเป็นการเดินออกจากโลก เหนือโลก ไม่เป็นวัฏสงสาร
ความดับแห่งชาติก็ชื่อว่า ดับภพและวัฏสงสาร เพราะเมื่อไม่มีชาติคือการเกิด ก็ไม่มีการตาย ไม่มีการท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร ถึงความระงับดับสนิทแห่งสังขาร นิพพานจึงเป็นการดับภพดับชาติดับการเวียนว่ายตายเกิดเสียได้ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสูงสุดเป็นที่สิ้นสุดแห่งการเดินทางของชีวิต ดังนั้นนิพพานจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต
๒.๑.๓ นิพพานเป็นความดับไม่เหลือแห่งกิเลส
ความสิ้นไปแห่งทุกข์ก็ดี ความดับไปแห่งภพ ชาติและวัฏสงสารก็ดี เป็นสิ่งที่เนื่องมาจากความดับสนิทแห่งกิเลส ชีวิตมนุษย์ที่มีความทุกข์มีภพมีชาติ และท่องเที่ยวไปในสงสารก็เพราะยังมีกิเลสเป็นสาเหตุอยู่ หากกิเลสดับสิ่งเหล่านั้นก็ดับตามไปด้วย
กิเลสเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมองของชีวิต กล่าวกันว่า โดยสภาวะพื้นฐานของชีวิตส่วนที่เป็นจิตนั้น จิตเดิมแท้เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ แต่ที่เศร้าหมองกลายสภาพไปเพราะกิเลสที่เข้ามาแปดเปื้อนภายหลัง “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา” เมื่อจิตมีความเศร้าหมอง ชีวิตก็เป็นไปตามจิตที่เศร้าหมองบงการ ทำถูกบ้างผิดบ้างตามแต่ความหนาบางมากน้อยของกิเลส ในแง่นี้กิเลสจึงถือเป็นสาเหตุแห่งปัญหาทั้งปวง ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “ปัญหาต่างๆ ในโลกมันเกิดขึ้นมาจากสิ่งๆ เดียวคือกิเลส” เมื่อคนมีกิเลสก็สามารถทำความเลวร้ายได้ทุกชนิด สร้างปัญหาต่างๆ มากมายขึ้นในโลก ความโหดร้าย การเบียดเบียน การประหัตประหารทำสงครามกันก็ดี ความอยากได้ปล้นจี้แย่งชิงทรัพย์สินวัตถุสิ่งของกันก็ดี ความเลวร้ายชนิดอื่นๆ ก็ดี ล้วนเกิดขึ้นในนามของกิเลสทั้งนั้น
กิเลสคือความเศร้าหมองนี้มีชื่อเรียกมากมาย มีความหยาบความละเอียดต่างกัน หากว่าถึงต้นตอแห่งกิเลสทั้งปวง ในทางพุทธศาสนาถือว่ากิเลสเกิดจากอวิชชาคือความไม่รู้ ความโง่หรือความขาดปัญญาเครื่องรู้แจ้ง ความไม่รู้เป็นเหตุแห่งการปฏิบัติผิดๆ ต่อสิ่งทั้งปวง การปฏิบัติผิดเหล่านั้นเรียกว่า กิเลส มีชื่อเรียกต่างๆ กัน และกลายมาเป็นอาสวะเป็นมวลรวมแห่งความเศร้าหมอง เป็นอาหารหรือเป็นสาเหตุแห่งอวิชชาหรือพอกพูนอวิชชาให้หนาแน่นยิ่งขึ้น โดยตัวมันเองแล้วอวิชชาก็ถือเป็นกิเลสและถือว่าเป็นกิเลสตัวสำคัญด้วย เพราะก่อให้เกิดการปฏิบัติผิดหรือกิเลสตัวอื่นๆ อีกมากมาย เป็นกระบวนการที่เรียกเป็นหลักว่า อิทัปปัจจยตาบ้าง ปฏิจจสมุปบาทบ้าง
กิเลสทั้งหมดทั้งปวง เมื่อเกิดแล้ว ก็เป็นไปเพื่อความทุกข์ก่อให้เกิดความทุกข์ มีความทุกข์เป็นผลปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ที่เกิดเพราะผลของกิเลสตัวนั้นๆ โดยตรง เช่น ความโลภ ความโกรธ ความอยาก ความยึดมั่น เป็นต้น หรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นในนามของการมีภพมีชาติมีชรามรณะโสกะปริเทวะ อันเป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะกิเลสเป็นเหตุให้ท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร
เมื่อกิเลสเป็นความเศร้าหมองของชีวิต เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุแห่งการวนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร โจทย์ใหญ่ของมนุษย์เราจึงอยู่ที่ว่า “ทำอย่างไรจะทำลายกิเลสให้หมดไปได้ จะต้องนำพาชีวิตดำเนินไปถึงจุดไหนจึงจะเรียกว่า ดับกิเลสเสียได้”
เมื่อตั้งโจทย์ชีวิตอย่างนี้ นิพพานจึงดำรงอยู่ในฐานะเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เพราะนิพพานคือความดับไม่เหลือแห่งกิเลส นิพพานในความหมายของความดับไม่เหลือแห่งกิเลสนี้ ศึกษาได้จากภาวะของพระอรหันต์ผู้บรรลุพระนิพพาน ซึ่งมีการกล่าวไว้หลายลักษณะว่า ขีณาสวะ เป็นผู้มีอาสวะ (คือกิเลสอันเป็นมวลรวมแห่งความเศร้าหมอง) สิ้นแล้ว ตัณหักขยะ เป็นผู้สิ้นตัณหาแล้ว ราคักขยะ โทสักขยะ โมหักขยะ คือเป็นผู้สิ้นราคะโทสะโมหะ ปริกขีณภวสังโยชนะ เป็นผู้มีสังโยชน์เครื่องประกอบไว้ในภพสิ้นแล้ว อนุปาทานะ เป็นผู้ไม่มีอุปาทาน ปุญญปาปปหีนะ เป็นผู้ละบุญ และบาปได้แล้ว สัพพคันถปหีนะ เป็นผู้ละกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดทั้งปวงได้แล้ว อกิญจนะ เป็นผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล
ลักษณะของพระอรหันต์เหล่านี้บ่งบอกให้รู้ว่า ท่านเข้าถึงภาวะบางอย่างซึ่งเป็นที่ตั้งอยู่ไม่ได้ของกิเลสที่เป็นที่ดับไปหมดไปสิ้นไปแห่งกิเลส เมื่อดับกิเลสได้เช่นนี้ ก็เป็นอันถือว่าเสร็จกิจแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นส่วนตัวอีกแล้ว และถือว่าเป็นผู้สิ้นสุดแห่งทุกข์ สิ้นชาติ ไม่มีชาติหน้า ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่ต้องเกิดไม่ต้องตาย ไม่ต้องท่องเที่ยวไปในวัฏสงสารอีก นิพพานเป็นความดับสนิทเช่นนี้ จึงถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต
ด้วยนิพพานเป็นประโยชน์ที่สูงสุด ไม่มีประโยชน์อื่นไหนยิ่งกว่า เป็นความดับไม่เหลือแห่งกิเลส เป็นที่สุดแห่งทุกข์ และเป็นที่ดับภพชาติหมดวัฏสงสาร ผู้ถึงนิพพานชื่อว่าเป็นผู้กระทำซึ่งชีวิตให้หมดเชื้อแห่งกิเลส ไม่มีภพชาติอีกต่อไป เป็นผู้นำชีวิตเข้าถึงความดับสนิท เข้าถึงสิ่งสูงสุด ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงมีทัศนะว่า นิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ชีวิตของคนเราที่เกิดมาในชาตินี้ ควรให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด และนิพพานเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ชีวิตจึงควรต้องให้ได้นิพพานอย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และที่สำคัญคือพบพระพุทธศาสนาอันมีสิ่งสูงสุดมอบให้
๒.๒ ภาวะของนิพาน
ในบรรดาการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหรือพุทธปรัชญา เรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องยากแก่การศึกษาและเข้าใจคือ เรื่องพระนิพพาน นิพพานเป็นความดีงามสูงสุดเป็นเป้าหมายของชีวิตที่ทุกคนควรดำเนินไปให้ถึง ความยากที่เกิดขึ้นเพราะเราเกี่ยวข้องกับนิพพานในเชิงศึกษาเป็นองค์ความรู้ ในความเป็นจริงนิพพานมิได้มีไว้เพื่อศึกษาเป็นองค์ความรู้ แต่มีไว้เพื่อลงมือปฏิบัติให้บรรลุถึงและได้สัมผัสรสของมัน ความพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิพพานจึงเป็นเพียงแค่การเข้าใจแบบหลอกๆ เท่านั้น
ธรรมที่เป็นทางดำเนินไปสู่นิพพานหรือตัวนิพพานเองนั้น แม้พระพุทธเจ้าพระองค์ก็พิจารณาเห็นว่ายาก ลึกซึ้ง ละเอียด จนต้องเกิดพระปริวิตกแห่งจิตว่า คนที่เคยชินอยู่กับโลกจะเข้าใจหรือไม่ “ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นคุณอันลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบประณีต ไม่หยั่งลงสู่ความตรึก ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง ส่วนหมู่สัตว์นี้เริงรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย ชื่นชมด้วยอาลัย ฐานะคือความที่อวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขารเป็นต้นนี้ เป็นสภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นนี้ อันหมู่สัตว์ผู้เริงรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย ชื่นชมในอาลัยเห็นได้ยากแม้ฐานะคือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับสนิท หากิเลสเครื่องร้อยรัดมิได้นี้ ก็แสนยากที่จะเห็นได้ ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรมสัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา”
นิพพานมีลักษณะเป็นไปตามคุณของพระธรรมคือ “เป็นสันทิฏฐิธรรม ปัจจัตตังเวทิตัพพธรรม คือ เป็นธรรมที่เห็นได้เองในปัจจุบันรู้และเข้าใจได้ด้วยตัวของผู้นั้นเอง” นิพพานยากแก่การบอกการกล่าวแก่ใครๆ ให้รู้และเข้าใจ เหล่าพระอรหันต์ผู้บรรลุนิพพานแล้วจึงไม่พยายามที่จะอธิบาย นิ่งเฉยเสีย ได้แต่เพียงเชิญชวนให้มาสัมผัสด้วยตัวเอง เป็นความเหนื่อยเปล่าที่จะอธิบายให้เข้าใจด้วยคำพูด เพราะไม่มีคำพูดใดที่จะกล่าวถึงอย่างถูกต้องตรงภาวะ และครบบริบูรณ์ นิพพานไม่มีคำพูดใดที่จะกล่าวถึงได้ ปราชญ์ท่านจึงกล่าวว่า นิพพานเป็นอนิรวจนียะ คือ พูดไม่ได้บรรยายไม่ถูก พ้นไปจากภาษาที่มนุษย์ใช้อยู่
นิพพานแม้ไม่ใช่ภาวะที่จะเข้าใจได้อย่างแท้จริงด้วยการอธิบาย แต่ความพยายามอธิบายด้วยคำพูดก็เป็นประโยชน์อยู่มากเหมือนกัน อย่างน้อยก็ทำให้เกิดจินตภาพเกี่ยวกับนิพพานได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นจินตภาพแบบเทียมๆ ก็ตาม และเป็นแรงบันดาลใจก่อให้เกิดฉันทะเพียรพยายามเพื่อให้บรรลุถึง
คำพูดที่มีการกล่าวถึงพระนิพพานที่เป็นจริงถูกต้อง ทำให้เกิดจินตภาพเกี่ยวกับนิพพานได้ดีที่สุดและถือเป็นต้นแบบในการอธิบายภาวะของพระนิพพาน ก็คือพระวจนะของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีปรากฏอยู่มากแห่งในคัมภีร์พระไตรปิฎก ดังนี้
“ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ไม่มีใครชี้ได้ ไม่มีที่สุด แจ่มใสโดยประการทั้งปวง
ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ใน
ธรรมชาตินี้ อุปาทายรูปที่ยาว และสั้น ละเอียด และหยาบ ที่งามและ
ไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้ นาม และรูปย่อมดับไม่มีเหลือ
ในธรรมชาตินี้ เพราะวิญญาณดับ นาม และรูปนั้น ย่อมดับไม่มีเหลือ
ในธรรมชาตินี้”
นิพพานเป็นธรรมชาติที่รู้แจ้งหรือเป็นธาตุรู้ ระบุชี้ไม่ได้ว่า นั่นนี่ตรงนั้นตรงนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด มีลักษณะแจ่มใส ไม่มีธาตุอันเป็นลักษณะใหญ่คือดินน้ำไฟลม และรูปอันปรากฏขึ้นจากธาตุใหญ่ คือ ความยาวความสั้น ความละเอียดความหยาบ ความงามความไม่งามตั้งอยู่ อาจจะกล่าวได้ว่า ไม่มีลักษณะของความเป็นคู่ เพราะพระอรหันต์ผู้บรรลุนิพพานท่านกล่าวว่า ไม่มีบุญไม่มีบาป ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ดีใจไม่เสียใจ ไม่เกิดไม่ตาย ในนิพพานไม่มีนามรูป ไม่มีวิญญาณ นามรูปและวิญญาณดับสนิทเสียแล้ว
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่า ความกำจัดราคะ ความกำจัดโทสะ ความกำจัดโมหะ
นี้เป็นชื่อแห่งนิพพานธาตุ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า ธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ”
นิพพานเป็นธรรมชาติทำลายเสียซึ่งราคะโทสะโมหะ เป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลสอาสวะทั้งหลาย ดังนั้นผู้บรรลุนิพพานท่านจึงกล่าวว่า ผู้ห่างไกลจากกิเลส ผู้ไม่มีกิเลส
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่า พร่องหรือเต็มด้วยภิกษุนั้น”
นิพพานเป็นธาตุที่มีความสมบูรณ์ในตัวเองอย่างถาวร ไม่มีอาการพร่องหรือเต็มเพราะการเพิ่มเข้าหรือนำออกไปของสิ่งใด
“ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ
วิญญาณณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ
โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะ
นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา
เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุปบัติ อายตนะนั้นหาที่
ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”
พุทธพจน์ข้อนี้กล่าวยืนยันไว้ว่า นิพพานนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่ไม่เป็นอะไรสักอย่าง ไม่มีอะไรสักอย่าง ไม่เหมือนอะไรเลย ไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการตั้งอยู่ กล่าวได้แต่ว่า ภาวะเช่นนี้แหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์
พุทธพจน์ในที่อื่นๆ ที่กล่าวถึงภาวะนิพพานเป็นประโยคสั้นๆ “ความสิ้นไปแห่งตัณหา เป็นนิพพาน” ”นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ตัณหาคือสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นตัวสร้างภพสร้างชาติ ทำสัตว์ให่ท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นอเนกชาติ ผู้รู้จักตัณหาและดับตัณหาได้ชื่อว่าถึงนิพพาน หยุดความอยากความปรารถนาหยุดการปรุงแต่งเสียได้ ถึงความระงับดับทุกข์ ดับภพดับชาติ ประสบสุขแท้จริงอย่างยิ่ง
จากพุทธพจน์ที่กล่าวมา สรุปได้ว่า พระนิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง มีอยู่อย่างอิสระ ไม่ขึ้นกับเงื่อนไขใดๆ เป็นภาวะสูงสุดรองรับการดำเนินไปถึงของเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลาย แต่นิพพานเป็นภาวะที่รู้เห็นเข้าใจบอกบรรยายได้ยากอย่างยิ่ง เนื่องเพราะนิพพานไม่มีความเป็น ไม่เป็นอะไร ไม่เหมือนอะไร ไม่มีอะไร เป็นภาวะดับสนิทไม่เหลืออะไร ให้กล่าวว่า มีอยู่เป็นอยู่
นิพพาน หมายถึง สภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ว ภาวะที่เป็นสุขสูงสุด เพราะไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพสมบูรณ์
๒.๓ สภาวะของนิพพานจากหลักฐานในพระไตรปิฎก
“นิพพาน” จากบาลี Nibbāna ประกอบด้วยศัพท์ นิ (ออกไป, หมดไป, ไม่มี) + วานะ (พัดไป, ร้อยรัด) รวมเข้าด้วยกันแปลว่า ไม่มีการพัดไป ไม่มีสิ่งร้อยรัด คำว่า "วานะ" เป็นชื่อเรียกกิเลสตัณหา กล่าวโดยสรุป นิพพานคือการไม่มีกิเลสตัณหาที่จะร้อยรัดพัดกระพือให้กระวนกระวายใจ อันเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
พระอนุรุทธาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ได้พรรณนาคุณของนิพพานว่า ปทมจฺจุตฺ มจฺจนฺตํ อสงฺขตมนุตฺตรํ นิพฺพานมีติ ภาสนฺติ วานมุตฺตามเหสโย "พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้พ้นแล้วจากตัณหาเครื่องร้อยรัด ทรงตรัสถึงสภาวะธรรมชาติหนึ่งที่เข้าถึงได้ เป็นธรรมชาติที่ไม่จุติ พ้นจากขันธ์ 5 ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยใด ๆ เลย หาสภาวะอื่นเปรียบเทียบไม่ได้ ว่าสภาวธรรมนั้นคือพระนิพพาน"
คัมภีร์พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะกล่าวถึงนิพพาน 2 ประเภท คือ
1. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุยังมีอุปาทิเหลือ ยังเกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์ กล่าวคือดับกิเลสแต่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ
2. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุที่ไม่มีอุปาทิเหลือ หรือนิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์ กล่าวคือดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่อีก
คำว่า "นิพพาน" เป็นคำที่ใช้กันในปรัชญาหลายระบบในอินเดีย โดยใช้ในความหมายของความหลุดพ้น แต่การอธิบายเกี่ยวกับสภาวะของนิพพานนั้นแตกต่างกันออกไป ในปรัชญาอุปนิษัทเชื่อว่า นิพพานหรือโมกษะ คือการที่อาตมันย่อยหรือชีวาตมันเข้ารวมเป็นเอกภาพกับพรหมัน แต่ในพระพุทธศาสนาอธิบายว่า นิพพานคือการหลุดพ้นจากอวิชชา ตัณหา ซึ่งแสดงออกในรูปของโลภะ โทสะ และโมหะ มิได้หมายความว่าเป็นการหลุดพ้นของอัตตาหรือตัวตนในโลกนี้ ไปสู่สภาวะของนิพพานเช่นเดียวกับคำสอนอุปนิษัท แต่หมายถึงความดับสนิทแห่งความเร่าร้อนและเครื่องผูกพันร้อยรัดทั้งปวง ซึ่งเรียกว่าเป็นความทุกข์
คัมภีร์พระพุทธศาสนาโดยเฉพาะของฝ่ายเถรวาท ระบุไว้ชัดเจนว่า "นิพพานอันว่างจากตน" "นิพพานเป็นอนัตตา" เช่น ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก ปริวารระบุว่า อนิจฺจา สพฺพสงฺขารา ทุกฺขานตฺตา จ สงฺขตา นิพฺพานญฺเจว ปณฺณตฺติ อนตฺตา อิติ นิจฺฉยา "สังขารทั้งปวงอันปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นิพพานและบัญญัติเป็นอนัตตา วินิจฉัยมีดังนี้" (วิ.ป.บาลี 8/257/194)
นิพพานก็อยู่ใน อริยสัจจ์ 4 ด้วย คือเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา ได้แก่ อริยสัจจ์ข้อ 3 ที่เรียกว่า "นิโรธ" คำว่านิโรธนี้เป็น ไวพจน์ คือใช้แทนกันได้กับ "นิพพาน" พระไตรปิฎกเล่ม 31 ระบุว่าอริยสัจจ์ 4 ทั้งหมดซึ่งรวมทั้งนิโรธ คือนิพพาน ด้วยนั้น เป็นอนัตตา ดังนี้ อนตฺตฏฺเฐน จตฺตาริ สจฺจานิ เอกปฏิเวธานิ . . . นิโรธสฺส นิโรธฏฺโฐ อนตฺตฏฺโฐ. (ขุ.ปฏิ. 31/546/450) แปลว่า: "สัจจะทั้ง 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) มีการตรัสรู้ด้วยกันเป็นอันเดียว (คือด้วยมรรค ญาณเดียวกัน) โดยความหมายว่าเป็นอนัตตา . . . นิโรธมีความหมายว่าดับ (ทุกข์) ก็มีความหมายว่า เป็นอนัตตา " อรรถกถาอธิบายว่า อนตฺตฏฺเฐนาติ จตุนฺนมฺปิ สจฺจานํ อตฺตวิรหิตตฺตา อนตฺตฏฺเฐน. (ปฏิสํ.อ.2/229)
ในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรคระบุว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" และในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาตมีระบุว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" ซึ่ง "ธรรม" ในที่นี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายต่อว่า "หมายรวมถึงนิพพานด้วย" นอกจากนี้ ยังมีข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกอีกหลายแห่งทั้งที่ระบุโดยตรงและโดยอ้อมที่มีนัยบอกว่า "นิพพานเป็นอนัตตา" คำว่า "อนัตตา" มีความหมายระดับปรมัตถ์ มีนัยที่ต้องไขความต่ออีก โดยเฉพาะในคัมภีร์ชั้นหลังจะบอกว่า "ที่ชื่อว่าเป็นอนัตตา เพราะเกิดขึ้นจากองค์ประกอบต่าง ๆ มาประชุมกัน ไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นเป็นแกนอยู่ ไม่มีตัวตนที่คงที่ ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีผู้เสวย ไม่มีอำนาจในตัวเอง บังคับให้เป็นไปในอำนาจไม่ได้ แย้งต่ออัตตา"
ในคัมภีร์มิลินทปัญหา พระนาคเสนทูลแก้ปัญหาของพระยามิลินท์ที่ทรงถามว่า ถ้านิพพานไม่มีที่ตั้งอาศัย นิพพานก็ย่อมไม่มี โดยกราบทูลว่า
"ขอถวายพระพรมหาบพิตร โอกาสอันเป็นที่ตั้งของนิพพานหามีไม่ แต่นิพพานนั้นมีอยู่ พระโยคาวจรผู้ปฏิบัติชอบ ย่อมทำให้แจ้งนิพพาน ด้วยการพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย มหาบพิตร เหมือนดั่งว่าชื่อว่าไฟย่อมมีอยู่ แต่โอกาสอันเป็นที่ตั้งของไฟนั้นหามีไม่ เมื่อบุคคลเอาไม้สองอันมาขัดสีกันก็ย่อมได้ไฟขึ้นมาฉันใด มหาบพิตร นิพพานก็มีอยู่ฉันนั้นนั่นแล โอกาสอันเป็นที่ตั้งของนิพพานนั้นไม่มี (แต่) พระโยคาวจรผู้ปฏิบัติชอบ ย่อมทำนิพพานให้แจ้งด้วยการพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย..."(มิลินฺท.336)
ในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา ยังมีข้อความแสดงสภาวะของนิพพานอีกหลายแห่ง เช่นในปฏิสัมภิทามรรค มีอธิบายว่า นิพฺพานธมฺโม อตฺตสฺเสว อภาวโต อตฺตสุญฺโญ "ธรรมคือนิพพาน ว่างจากอัตตา เพราะไม่มีอัตตา" (ขุ.ป.อ.2/287) นอกจากนี้ในวิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสะพยายามอธิบายให้เห็นถึงความไม่มีตัวตนของผู้ได้ชื่อว่าบรรลุนิพพาน ซึ่งเท่ากับว่าไม่มีอัตตา และนิพพานก็มิใช่สิ่งที่จะต้องมีอัตตาถึงจะมีอยู่ได้ ดังที่พระพุทธโฆสะกล่าวว่า "นิพพานมีอยู่ แต่ไม่มีผู้เข้าถึงนิพพาน มรรคามีอยู่ แต่ปราศจากผู้ดำเนินไป" (วิสุทฺธิ.3/101) ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่มีตัวตนบุคคลใด ๆ ที่ปฏิบัติตามมรรค 8 แล้วบรรลุนิพพาน เมื่อปราศจาก "ตัวตน" ของผู้เข้าถึงนิพพาน นิพพานก็ย่อมไม่ใช่อัตตาไปด้วย
ความมีอยู่ของพระนิพพาน มิใช่สภาวะที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของจิต แต่มีอยู่โดยตัวของตัวเอง คือเป็นความจริงขั้นปรมัตถสัจ ที่ตรงข้ามกับสมมติสัจในโลกแห่งปรากฏการณ์ มีสภาวะที่เที่ยง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดดับสลับกันไปแบบสิ่งต่างๆ ในโลก นิพพานจึงเป็นอสังขตธรรมที่พ้นไปจากปัจจัยปรุงแต่ง ในสภาวะของนิพพานทั้งนาม (จิต) และรูป ย่อมดับไม่เหลือ ดังพุทธวจนะในเกวัฏฏสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ได้กล่าวถึงนิพพานว่าเป็น "ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ไม่มีใครชี้ได้ ไม่มีที่สุด แจ่มใสโดยประการทั้งปวง ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมนี้ อุปาทยรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมนี้ นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ เพราะวิญญาณดับ นามและรูปย่อมดับ ไม่มีเหลือในธรรมชาติ ดังนี้ฯ" (ที.สี.14/350) เพราะฉะนั้น นิพพานจึงไม่ใช่จิต หรือสัมปชัญญะบริสุทธิ์ ซึ่งนั่นเป็นลักษณะของพรหมมันหรืออาตมันของปรัชญาฮินดู ทั้งยังไม่ใช่เจตสิกที่อาศัยจิตเกิดขึ้น เพราะทั้งจิตและเจตสิกนั้นล้วนเป็นสังขตธรรม ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง มีธรรมชาติเกิดดับ มีการเปลี่ยนแปร เกิดขึ้นตั้งอยู่ และดับไป เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ แต่นิพพานอยู่เหนือสภาพเช่นนี้ และว่างเปล่าจากสิ่งเหล่านี้ ขณะเดียวกัน นิพพานก็ไม่ใช่ความดับสูญอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นลักษณะของอุจเฉททิฏฐิการใช้ภาษาอธิบายนิพพานเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าเป็นอัตตาเที่ยงแท้ (สัสสตทิฏฐิ) หรือว่าเป็นความขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) ซึ่งเป็นทัศนะที่คลาดเคลื่อนจากพระบาลีทั้งสิ้น
พระพุทธเจ้าไม่เคยทรงอธิบายว่า พระอรหันต์ผู้บรรลุนิพพานเมื่อดับขันธ์แล้วจะอยู่ในสภาพเช่นใด การอธิบายทำได้ในลักษณะเพียงว่า นิพพานคือการดับทุกข์ สิ้นตัณหา เหมือนไฟที่ดับจนสิ้นเชื้อไม่สามารถที่จะลุกลามขึ้นมาได้อีก สำหรับพระอรหันต์ที่ปรินิพพานแล้วนั้น พระพุทธองค์ไม่ทรงตรัสยืนยันถึงความมีอยู่หรือความดับสูญ พระองค์ตรัสแต่เพียงว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ทั้งเทวดาและมนุษย์จะไม่สามารถเห็นพระองค์อีกต่อไป "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคต มีตัณหาอันนำไปสู่ภพขาดแล้ว ยังดำรงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นตถาคตชั่วเวลาที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นตถาคต" (ที.สี.14/90) ในคำสอนพระพุทธศาสนา ไม่มีอัตตาใดเข้าสู่นิพพาน และไม่มีอัตตาดับสูญในภาวะแห่งนิพพาน แม้ในโลกแห่งปรากฏการณ์ เบื้องหลังเบญจขันธ์อันไม่เที่ยงนั้น ก็มิได้มีอัตตาซึ่งเป็นผู้รับรู้หรือเป็นพื้นฐานแห่งตัวตนที่เที่ยงแท้อยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกอยู่ในรูปของกระบวนการที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทั้งรูปธรรมและนามธรรม กระบวนการแห่งนามรูปที่สมมติว่าเป็น ตัวตน สัตว์ บุคคล เราเขา นี้ เมื่อวิวัฒนาการไปจนกระทั่งถึงที่สุด ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปก็เป็นอันยุติลง สภาพความสิ้นสุดกระบวนการแห่งนามรูปที่ไม่เที่ยงแปรปรวนอยู่ทุกขณะนี้ เรียกว่านิพพาน เมื่อรูปและนามดับ นิพพานจึงไม่ใช่ทั้งจิตและสสารซึ่งต้องอาศัยเหตุปัจจัยในการดำรงอยู่ พระนิพพานตั้งอยู่โดยไม่ต้องอาศัยเหตุปัจจัย จึงเรียกว่า อสังขตธรรมในพระไตรปิฎกมักเปรียบนิพพานว่าเหมือนกับไฟที่ดับแล้ว ไม่สามารถบอกได้ว่าไฟที่ดับไปนั้นหายไปไหนหรืออยู่ในสภาพใด
นิพพานเป็นธรรมที่พ้นไปจากโลก การอธิบายนิพพานโดยอาศัยพื้นฐานในทางโลกตลอดจนภาษาทางตรรกวิทยาจึงไม่อาจกระทำได้ การจำกัดความจึงมักใช้การปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ไม่ใช่ทั้งสิ่งนั้นและสิ่งนี้ ไม่มีการอุบัติ ไม่มีการจุติ ไม่มีองค์ประกอบ ไม่มีการสร้างสรรค์ ไม่มีการแตกทำลาย ไม่ใช่ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นต้น ดังปรากฏในพาหิยสูตร ความว่า "ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี ก็เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะรู้ (สัจจะ 4) รู้แล้วด้วยตนเอง เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมหลุดพ้นแล้วจากรูปและอรูป จากความสุขและความทุกข์..." (ขุ.ขุ.อ.25/50)
เมื่อนิพพานพ้นไปจากบัญญัติในทางโลก การอธิบายถึงนิพพานจึงเป็นเพียงการเปรียบเทียบ เช่น เปรียบเทียบกับความว่างเปล่า หรือไฟที่ดับไป เป็นต้น ในวิสุทธิมรรคกล่าวว่า "เพราะพระนิพพานเป็นคำสุขุมนัก...เป็นธรรมที่ต้องเห็นด้วยอริยจักษุ เป็นธรรมอันบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยมรรค (เท่านั้น) จะพึงถึงได้" นิพพานจึงมิใช่เรื่องของการเข้าใจ แต่อยู่ที่การเข้าถึง อันเป็นผลจากการปฏิบัติธรรมของตนเอง
ความดับทุกข์ (นิโรธ) คือ นิพพาน ( เป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา ) อันเป็น แก่นของพระพุทธศาสนา เป็นความสุขสูงสุด หรือเรียกอีกอย่างว่า
-วิราคะปราศจากกิเลส
-วิโมกข์พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
-อนาลโย ไม่มีความอาลัย
-ปฏินิสสัคคายะการปล่อยวาง
-วิมุตติ การไม่ปรุงแต่ง
-อตัมมยตา ไม่หวั่นไหว และสุญญตา ความว่าง
อ้างอิง
นรินทร์ สุธรรม,พระมหา.สมณเพศกับเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเถรวาท.วิทยานิพนธ์
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2545.
กรมการศาสนา,กระทรวงศึกษาธิการ.พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง 45 เล่ม.พิมพ์ครั้งที่ 4,
กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา,2525.
กรมการศาสนา.อธิบายวินัยบัญญัติสำหรับนักธรรมชั้นตรี ฉบับกรมศาสนา.พิมพ์ครั้งที่ 2,
กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา,2531.
กรมศิลปากร.มิลินทปัญหา ฉบับพิสดารของหอสมุดแห่งชาติ.พระนคร:โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์,2496.
จำนงค์ ทองประเสริฐ.ปรัชญาประยุกต์ ชุดอินเดีย,พระนคร:โรงพิมพ์เฟื่องอักษร,2514.
ฉาทนี จันทนยิ่งยง.ทรรศนะเรื่องความหลุดพ้นในปรัชญาเถรวาท(วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร
มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2520.)
ทองหล่อ วงษ์ธรรมา.ปรัชญาตะวันออก.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์,2536.
--------------------------.ปรัชญาอินเดีย.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์,2535.
พุทธทาสภิกขุ.ทางตามหลักพระพุทธสาสนา,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ธรรมสภา,๒๕๔๒.
วารีญา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม, “ปรัชญาขั้นแนะนำ: กระแสคิดที่ทรงอิทธิพลต่อโลก,หนังสือชุดนักคิดสะท้านโลกันต์.1”,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ชีวาภิวัฒน์,2547.
ที.ดับลิว.ริส เดวิส แต่ง,สมัย สิงหศิริ แปลและเรียบเรียง.พระพุทธศาสนาในชมพูทวีป,กรุงเทพฯ:
สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยจัดพิมพ์,2515.
นัยนา เกิดวันชัย.ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดเรื่องบุญกับนิพพานในพุทธปรัชญาเถรวาท,
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2539.
นามกาย.เทียนธรรม,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มติชน,2542.
พุทธทาสภิกขุ.คำสอนสำหรับผู้บวชพรรษาเดียว,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สุขภาพใจ,2534.
พุทธทาสภิกขุ.จดหมายจากสวนโมกข์,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สุขภาพใจ,ม.ป.ป.
พุทธทาสภิกขุ.ตามรอยพระอรหันต์.พิมพ์ครั้งที่ 7,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สุขภาพใจ,2541.
พุทธทาสภิกขุ.ธรรมโฆษณ์ ชุด บรมธรรม.พิมพ์ครั้งที่ 4 ,กรุงเทพฯ:ธรรมทานมูลนิธิพิมพ์,2525.
พระเมธีธรรมาภรณ์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณะ.วิมุตติมรรค,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ศยาม,2538.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.ปปัญจสูทนี 3 ฉบับบาลี,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์วิญญาณ,2532.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.ปรมัตถโชติกา ฉบับบาลี,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์วิญญาณ,2532.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.ปรมัตถโชติกา 2 ฉบับบาลี,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราช
วิทยาลัย,2534.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.ปรมัตถทปนี ฉบับบาลี,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราช-
วิทยาลัย,2533.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.มโนรถปูรณี 1 ฉบับบาลี,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์วิญญาณ,2533.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.สมันตปาสาทิกา 1 ฉบับบาลี,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราช-
วิทยาลัย,2534.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.สมันตปาสาทิกา 3 ฉบับบาลี,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราช-
วิทยาลัย,2534.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.สัทธัมมปกาสินี ฉบับบาลี,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์วิญญาณ,2534.
มหามกุฏราชวิทยาลัย.ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 1 ฉบับบาลี,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,
2537.
มหามกุฏราชวิทยาลัย.พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทย ฉบับสยามรัฐ 45 เล่ม,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์
มหามกุฏราชวิทยาลัย,2498.
มหามกุฏราชวิทยาลัย.วิสุทธิมรรคแปล ภาค 1,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,2508.
ขุทฺทกนิกาเย ธมฺมปท อุทาน อิติวุตฺตก สุตตนิปาตปาลิ.กรุงเทพฯ :มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
,2500.
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค.กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2539.
ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค.กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์การศาสนา, 2500.
มิลินฺทปญฺหา.กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2540.
ธรรมปิฎก,พระ.พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราช
วิทยาลัย,2546.
ธรรมปิฎก,พระ.พุทธธรรม.พิมพ์ครั้งที่ 6.กรุงเทพ ฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2538.
พุทธทัตตะ,พระ.อภิธัมมาวตาร บาลี-ไทย.กรุงเทพฯ : มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ,2530.
พุทธทาสภิกขุ. อนัตตาของพระพุทธเจ้า.กรุงเทพฯ : ธรรมสภา,2542.
วินยปิฎเก ปริวารปาลิ.กรุงเทพฯ :มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2500.
สุชีพ ปุญญานุภาพ.พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน.กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย,2539.
เสถียร โพธินันทะ.ธรรมฐิติญาณกับนิพพานญาณ และหลักสุญญตา.กรุงเทพฯ :แพร่พิทยา,2526.
อนุรุทธะ,พระ.อภิธัมมัตถสังคหะ.กรุงเทพ ฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย,2506.
เอกศาสนา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
จิตติเทพ เว็บบล็อก