วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายในพุทธศาสนา

การศึกษาในบทนี้ ผู้ศึกษามีจุดมุ่งหมายในการศึกษาประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายในพุทธศาสนา โดยได้ทำการศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร และงานวิจัย ดังจะได้ศึกษาประเด็นสำคัญตามลำดับขั้นตอนต่อไปนี้
2.1 โกศและพิธีกรรมทำศพ
2.2 แนวคิดความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรม
2.3 พิธีพระราชทานเพลิงศพ
2.4 การขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
2.5 การสร้างเมรุแบบต่าง ๆ ในพิธีฌาปนกิจศพ
2.6 วิเคราะห์ถึงปรัชญาคติในเรื่องประเพณีเกี่ยวกับการตาย
2.7 ศาสนคติทางพระพุทธศาสนา

2.1 โกศและพิธีกรรมทำศพ
โกศ มีพัฒนาการจาก “พิธีปลงศพครั้งที่ 2” ราว 3,000 ปีมาแล้ว ร่องรอยเก่าสุดเห็นได้จากไหหินในลาว และภาชนะดินเผาใส่ศพแบบ “แค็ปซูล” ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในอีสาน
พิธีศพ ก็คือพิธีกรรมความตาย เป็นพิธีกรรมสำคัญที่สุดของมนุษย์ อย่างน้อยตั้งแต่ 3,000 ปีมาแล้ว สืบถึงปัจจุบัน
มนุษย์อุษาคเนย์ เชื่อว่าคนเรามาจากบาดาลทางน้ำที่อยู่ใต้พื้นดิน เมื่อคนตาย (ที่ยุคนั้นเข้าใจความตายต่างจากยุคนี้) ก็คือกลับไปสู่ถิ่นเดิมในบาดาลที่มีนาคพิทักษ์อยู่ คนมีฐานะทางสังคม เช่น หัวหน้าเผ่าพันธุ์ หรือหมอผี เมื่อตายไป คนทั้งชุมชนร่วมกันทำพิธีศพใหญ่โต แต่ถ้าคนทั่วไปตายลงก็ทิ้งให้แร้งกากิน
พิธีศพของคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นบุคลสำคัญหรือธรรมดา เครือญาติจะเก็บศพไว้หลายวันหลายคืนเพื่อส่งวิญญาณ โดยกินเลี้ยงกับกินเหล้าแล้วขับลำบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของเผ่าพันธุ์ พิธีศพของไทยที่เก็บศพไว้ฉลองนานวัน ก็มาจากประเพณีดึกดำบรรพ์ 3,000 ปีมาแล้วอย่างนี้เอง เมื่อครบกำหนดที่ตกลงกันก็แห่ศพที่อาจหุ้มห่อด้วยเครื่องจักสาน อย่างใบไม้ไปฝังบริเวณที่กำหนดรู้กันว่าเป็นสถานที่เฉพาะซึ่งมักเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลางหมู่บ้าน มีเสาไม้ปักไว้เป็นเครื่องหมายล้อมรอบต่อมาใช้แผ่นหินเป็นแท่งเล็กบ้างใหญ่บ้างตามฐานะของชุมชน แท่งหินนี้คนปัจจุบันเรียกหินตั้ง ซึ่งต่อไปเมื่อรับพุทธศาสนาแล้วเรียกว่า เสมาหิน หรือใบเสมาในปัจจุบัน
ขบวนแห่ศพมีเครื่องประโคม เช่น ฆ้อง กลอง หรือมโหระทึกและอื่นๆ (มีรูปวาดที่ถ้ำตาด้วง จังหวัดกาญจนบุรี)
เมื่อเอาศพลงหลุมต้องเอาเครื่องใช้ใส่ลงไปด้วย เชื่อว่าจะได้ติดตัวไปใช้ในบาดาล ฉะนั้นในหลุมศพจึงมีสิ่งของมากมายล้วนแสดงฐานะของผู้ตายว่าเป็นคนสำคัญ เช่น ภาชนะดินเผาลายเขียนสีในวัฒนธรรมบ้านเชียง ไม่ได้ทำไว้ปรุงอาหารในชีวิตประจำวัน แต่ทำไว้ฝังไปกับศพเท่านั้นคนบางเผ่าพันธุ์ที่อยู่ใกล้ลำน้ำ หรือใกล้ทะเลเคลื่อนศพไปทางน้ำด้วยเรือส่งศพ มีภาพลายเส้นที่ผิวมโหระทึก แต่บางเผ่าพันธุ์ทำโลงศพด้วยไม้ที่ขุดเป็นรางหรือโลงไม้ รูปร่างคล้ายเรือ หรือรางเลี้ยงหมูปัจจุบัน เอาศพวางในรางแล้วช่วยกันหามไปไว้ในถ้ำ หรือเพิงผาแหล่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พบที่แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ฯลฯ (รางระนาดปัจจุบันก็ได้มาจากโลงไม้ยุคนี้)
แต่ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ พิธีศพครั้งที่ 2 เริ่มจากครั้งแรกเอาคนตายไปฝังดินไว้ให้เนื้อหนังเน่าเปื่อยยุ่ยสลายไปกับดินจนเหลือกระดูก แล้วทำครั้งที่ 2 ด้วยการเก็บกระดูกใส่ภาชนะ เช่น ไหหิน ที่ทุ่งไหหินในลาว หม้อดินเผาใส่กระดูกพบทั่วไปแต่ขนาดใหญ่ พบแถบทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแบบ ?“แค็ปซูล” ประเพณีอย่างนี้พบทั่วไปทั้งผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ แล้วสืบถึงยุคทวารวดี พบภาชนะใส่กระดูกทำด้วยหินก็มี ทำด้วยดินเผาแกร่งก็มี ปัจจุบันก็คือโกศ
แม้แต่การเก็บกระดูกคนตายไว้ตามกำแพงวัดก็สืบเนื่องจากประเพณีดึกดำบรรพ์ 3,000ปีมาแล้ว อย่างนี้เอง
คนเมื่อ 3,000 ปีมาแล้วบางกลุ่มมีประเพณีฝังศพงอเข่าไว้กับอก บางทีเอาศพงอเข่าใส่ไหไป ฝังฯลฯอย่างนี้เรียกกันภายหลังว่าประเพณีศพนั่ง สืบเนื่องมาถึงสมัยหลังคือศพเจ้านายในพระบรมโกศ
แหล่งฝังศพยุคดึกดำบรรพ์ไม่ได้เป็นที่น่ารังเกียจสะพรึงกลัวอย่างทุกวันนี้เรียก ป่าช้า ป่าเลว (เห้ว, เปลว) หรือสุสาน ฯลฯ แต่คนเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว ยกย่องพื้นที่ฝังศพเป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษ เมื่อรับพุทธศาสนาในภายหลังต่อมาแล้วเลยยกบริเวณนั้นสร้างสถูปเจดีย์เป็นพุทธสถานก็มี เช่น ปราสาทหินพิมายที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และวัดชมชื่น ที่เมืองเชลียง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ฯลฯ
ลายเส้นจำลองลักษณะของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ บรรจุอยู่ในพระบรมโกศทองใหญ่ ภายหลังเสด็จสวรรคต ใน พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1866)
ภาพนี้อยู่ในหนังสือเดินทางรอบโลก (VOY AGE AUTOUR DU MONDE) ของเคาน์โบวัว (LE COMTE DE BEAUVOIR) ชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่ปารีสเมื่อ พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) ภายหลังการเดินทางรอบโลก โดยแวะเยือนกรุงเทพฯ วันที่ 11 - 19 มกราคม พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866) เนื่องจากท่านเคาน์ติดตามราชนิกุลฝรั่งเศส 3 คนเข้ามา จึงได้รับการต้อนรับจากรัชกาลที่ 4 เป็นพิเศษ เพราะทรงมีความสนิทสนมกับพระเจ้านโปเลียนที่ 3 อยู่ก่อนแล้ว ภาพในหนังสือของท่านเคาน์จึงมีลักษณะพิเศษ จากสิ่งที่ผมเห็นหรือได้รับการบอกเล่ามาเอง
เบื้องหลังภาพ เชื่อได้ว่าเป็นพระดำรัสตรัสเล่าโดยรัชกาลที่ 4 เกี่ยวกับพิธีพระบรมศพของพระปิ่นเกล้าฯ ที่เพิ่งสวรรคตไปก่อนหน้านั้นไม่นาน ในทรรศนะของผู้วาด จึงต้องการถ่ายทอดให้ชาวตะวันตกด้วยกันเห็นว่าธรรมเนียมการเก็บพระศพของพระเจ้าแผ่นดินไทยนั้น ต้องบรรจุพระบรมศพใส่ในพระโกศพร้อมด้วยเครื่องราชูปโภคต่างๆ คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ, พระแสงขรรค์ชัยศรี, ธารพระกรชัยกฤกษ์, พระสังวาล, พระธำมรงค์, ฉลองพระบาทเชิงงอนพร้อมด้วยฉลองพระองค์เต็ม ยศในท่าประทับนั่งยองๆ ภายในที่จำกัด ตามพระราชประเพณีที่กระทำกันสืบต่อมาแต่โบราณกาล
หนังสือเล่มนี้พิมพ์เมื่อต้นปี พ.ศ. 2411 ก่อนหน้ารัชกาลที่ 4 สวรรคต ถึง 10 เดือน (สวรรคตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411) จึงนับเป็นเอกสารร่วมสมัยพร้อมด้วยข้อมูลสดๆ ร้อนๆ ของเหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัชกาลนั้น ที่แม้แต่คนไทยทั่วไปในสมัยนั้นก็เข้าไม่ถึงมาก่อน เพราะหนังสือพิมพ์จำหน่ายอยู่ในยุโรปเท่านั้น(ไกรฤกษ์ นานา .... เขียนคำอธิบาย)

- 1,000 ปีมาแล้ว ฝังศพเหยียดยาวไม่งอเข่า
ในดินแดนประเทศไทยมีพิธีฝังศพแบบวางราบเหยียดยาวเก่าแก่สุดราว 10,000 ปีมาแล้ว เช่น พบที่จังหวัดกระบี่, จังหวัดแม่ฮ่องสอน ฯลฯ (แต่บางท้องถิ่นในบางประเทศอาจนานกว่านี้) พิธีศพนี้มีบางท้องถิ่นเรียก “พิธีทำศพ” เริ่มพิธีเมื่อมีคนตายจนถึงเอาศพไปฝังเป็นเสร็จพิธี แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีว่ามีครั้งแรกเมื่อไร?
ฝังศพ เป็นพิธีกรรมของชนชั้นนำ ผู้มีอำนาจและมีบริวารมากพอจะทำพิธีได้ หากเป็นสามัญชน คนทั่วไปไม่มีอำนาจ ไม่มีบริวาร ก็ทิ้งศพไว้ในที่ทั่วไปให้แร้งกาจิกกิน สถานที่ทิ้งศพเรียกกันภายหลังว่า ป่าเลว, ป่าเห้ว, เปลว เพราะคำว่าเลวหมายถึงไม่ดี บางท้องถิ่นออกเสียงเป็นเห้ว แต่บางพวกออกเสียงว่าเปลว ส่วนคนภาคกลางเรียก ป่าช้า เป็นคำเดียวกับเลว มักใช้ควบว่า เลวทรามต่ำช้า
- 3,000 ปีมาแล้ว เริ่มฝังศพงอเข่า ต้นเค้าโกศ
พบทั่วไปในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะบริเวณผืนแผ่นดินใหญ่สุวรรณภูมิ ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำโขงถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ ไทย, ลาว, เขมร, เวียดนาม ต่อเนื่องถึงมณฑลกวางสีในจีน (ที่อาจเป็นแหล่งฝังศพงอเข่าแบบเก่าสุด) คนยุคดึกดำบรรพ์เชื่อว่าคนตายคือ คนกลับคืนสู่บ้านเก่า คือท้องแม่ที่ต้องงอเข่าเข้าด้วยกัน ต่อมาคนดึกดำบรรพ์คิดทำภาชนะในศพงอเข่าไปฝังดิน เช่น ไหดินเผา (หรือ“แค็ปซูล”), หม้อดินเผา, จนถึงไหหินยุคสุวรรณภูมิในลาว, ไหหินยุคทวารวดีในพม่าและในไทย ฯลฯ ล้วนเป็นต้นเค้าเก่าสุดของโกศทุกวันนี้ ชุมชนบางแห่งของบางกลุ่มชาติพันธุ์ เชื่อว่าขวัญคนตายแล้วต้องกลับถิ่นเดิมทางน้ำ จึงเอาศพใส่ภาชนะคล้ายเรือไปไว้ในแหล่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ถ้ำ, เพิง, ผา ฯลฯ บางพวกสลักรูปเรือไว้บนภาชนะสัมฤทธิ์ใส่ศพก็มี

- 1,500 ปีมาแล้ว เผาศพตามแบบอินเดีย แต่ทำศพอย่างอื่นด้วย
เผาศพเป็นพิธีของชมพูทวีป (อินเดีย) ที่แพร่เข้ามาถึงดินแดนสุวรรณภูมิพร้อมศาสนาพราหมณ์ - พุทธ เมื่อราว พ.ศ. 1000 หรือราว 1,500 ปีมาแล้ว บางทีเรียกยุคทวารวดี นับตั้งแต่นี้ไปจะมีคติทำศพเรียก ปลงศพ มี 4 อย่าง ปะปนกันไปหรือต่างกันตามฐานะของคนตาย ได้แก่ ปลงศพด้วยดิน คือ ฝัง, ปลงด้วยน้ำ คือ โยนทิ้งในแม่น้ำลำคลอง, ปลงด้วยนก คือ ให้แร้งกากิน, ปลงด้วยไฟ คือ เผา
คนพื้นเมืองที่มีอำนาจรับแบบแผนชมพูทวีปมาปรับใช้ โดยเอาศพงอเข่าในภาชนะ แล้วยกลงเรือไปเผาบริเวณที่กำหนด ถือเป็นพระราชพิธีของกษัตริย์สืบมาจนถึงยุคกรุงศรีอยุธยา มีเอกสารระบุว่าถวายพระเพลิงพระศพกษัตริย์อยุธยาบางพระองค์ในเรือนาค ช่วง พ.ศ. 2000 หรือก่อนหน้านั้น

- 400 ปีมาแล้ว แรกมีเมรุเผาศพเจ้านาย
เมรุเผาศพ แรกมีราวหลัง พ.ศ. 2100 มีเหตุชวนให้เชื่อได้ว่าจะเริ่มสร้างเมรุ (อ่านว่า เมน)หรือเขาพระสุเมรุ ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ราว พ.ศ. 2181 หลังจากนั้นถึงใช้สร้างชั่วคราวด้วยไม้เผาศพเจ้านายเท่านั้น
เมรุยุคแรกใช้เผาศพเจ้านาย เรียก “พระเมรุ” หรือ “พระเมรุมาศ” ใช้งาน “ถวายพระเพลิงพระศพ” ส่วนคนทั่วไปเผาบนเชิงตะกอนอย่างง่ายๆ ถ้าเป็นยาจกยากจนก็โยนให้แร้งกากิน
เมรุ หรือพระเมรุ เมื่อแรกมียุคกรุงศรีอยุธยา สร้างเลียนแบบนครวัด “วิษณุโลก” ที่จำลองเขาพระสุเมรุ โดยจินตนาการขึ้นจากภูเขาหิมาลัย
รัชกาลที่ 5 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2411 - 2453) โปรดให้สร้างเมรุเผาศพอย่างถาวรด้วยปูนไว้ในวัดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ
เมรุถาวรแห่งแรกอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาส ราวเกือบ 100 ปีมาแล้ว ยังสืบเนื่องใช้งานพระราชทานเพลิงศพสืบจนทุกวันนี้ แต่เอกสารบางเล่มระบุว่ามี “เมรุปูน” วัดสระเกศ ใช้เผาศพแล้วตั้งแต่สมัยรัชการที่ 3 กว่าเมรุเผาศพจะเริ่มมีในวัดอื่นๆ เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็ต้องใช้เวลาอีกนานมากเกือบ 100 ปี คนแต่ก่อนเคยสร้าง “เมรุลอย” ถอดได้ (KNOCK - DOWN) เลียนแบบ “เมรุหลวง” ของเจ้านาย ให้คนมีฐานะเช่าไปใช้เผาศพที่ต่างๆ แต่คนฐานะด้อยกว่าก็ทำเชิงตะกอนประดับประดาด้วยเครื่องแกะสลักเป็นลวดลาย เช่น จักหยวก - แทงหยวก เป็นต้น

- 50 ปีมาแล้ว มีเมรุเผาศพ อยู่ในวัดทั่วประเทศไทย
เมรุเผาศพ ค่อยๆ แพร่เข้าไปอยู่ในวัดสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ ช่วงเรือน พ.ศ. 2500 หรือก่อนนั้นไม่นานหนัก ครั้นหลัง พ.ศ. 2500 มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับแรกแล้ว พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ลดลง ชนชั้นกลาง “กระฎุมพี” มีบทบาทสูงขึ้น จึงต้องการเผาศพบรรพบุรุษบนเมรุแบบเจ้านายและชนชั้นสูง เลยยกเอาเมรุเจ้านายเป็นแบบสร้างเลียนแบบไว้ตามวัดสำคัญๆ นานเข้าก็กระจายไปวัดราษฏรเล็กๆ ตามชานเมือง จนถึงวัดสำคัญของจังหวัดแล้วมีไปทั่วประเทศ

2.2 แนวคิดความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรม

2.2.1 พิธีกรรมเกี่ยวกับศพ
จากการศึกษาประเพณีงานศพของชาวพุทธทั่วไป พบว่า มีขั้นตอนและการประกอบพิธีกรรมเป็นรูปแบบทั้งที่มีส่วนใกล้เคียงหรือเป็นแบบแผนเดียวกันกับประเพณีงานศพของภาคอื่น ๆอาจมีบางขั้นตอนและการประกอบพิธีกรรมบางประการที่เป็นลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างอยู่บ้าง นอกจากนั้นการประกอบพิธีกรรมที่เคยกระทำกันในอดีตบางประการก็เลิกปฏิบัติ ทั้งนี้ แล้วแต่ความเหมาะสมตามความเชื่อ ความเคร่งครัดในพิธีกรรมของเจ้าภาพ และวัสดุสิ่งของเครื่องใช้ที่จะหามาได้ในการประกอบพิธีกรรม
ในอดีตก่อนตาย เมื่อมีผู้ป่วยอาการหนัก ญาติมิตรมักจะจัดให้มีพิธีกรรมสวดธาตุต่อชะตา สูตรขวัญกล่อง ค้ำโพธิ์ค้ำไฮ หรือทำพิธีตัดกรรมตัดเวรให้ ซึ่งบางครั้งเมื่อทำพิธีตัดกรรมตัดเวรแล้วก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับผู้ป่วยได้เร็ว เช่น ผู้ป่วยที่ทรมานอยู่เป็นปีก็จะเร่งตายภายใน2 – 3 วัน บางคนเมื่อพระสวดเสร็จไม่ถึงชั่วโมงก็ถึงแก่ความตาย มีบางคนที่ป่วยมาเป็นแรมปีก็เริ่มหายวันหายคืนและเป็นปกติในที่สุด
เมื่อมีอาการหนักจวนสิ้นใจ ลูก ๆ และญาติมิตรจะคอยเตือนให้ผู้ป่วยตั้งสติ เพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัยและบอกหนทางสวรรค์ให้คนป่วยได้ยินดัง ๆ ว่า พุทโธ ๆ หรือ อรหัง ๆ จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ เมื่อผู้ป่วยถึงแก่กรรมแล้ว ญาติมิตรก็จะแจ้งข่าวการตายให้ญาติผู้ใกล้ชิดและผู้เคารพ นับถือที่อยู่ใกล้เคียงและห่างไกลทราบข่าวด้วยวิธีการต่าง ๆ
ประเพณีงานศพของชาวไทย ก็มีวิธีการและขั้นตอนประกอบพิธีกรรมจำแนก
ตามข้อมูลที่ปรากฏได้ 4 ขั้นตอน คือ
1. วันถึงแก่กรรม (วันตาย)
2. วันตั้งศพบำเพ็ญกุศล (วันงันเฮือนดี)
3. วันฌาปนกิจศพ (วันเผา)
4. วันหลังฌาปนกิจศพ (วันเก็บอัฐิ)

1) วันถึงแก่กรรม (วันตาย)
ตามคติธรรมทางพุทธศาสนาถือว่าสังขารมนุษย์นั้นปรุงแต่งขึ้นมาจากธาตุทั้ง 4 คือ ดินได้แก่ เนื้อ หนัง กระดูก น้ำ ได้แก่ น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำลาย เป็นต้น ลม ได้แก่ ลมหายใจเข้าออกและไฟ ได้แก่ ความร้อนในร่างกาย สิ่งเหล่านี้เป็นอนัตตา คือไม่อยู่ในการควบคุมของใคร หรืออาจกล่าวได้ว่า ความตายนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ไม่มีใครกำหนดวันตายของตนเองหรือหยั่งรู้วันตายได้เมื่อมีการตายเกิดขึ้นจะต้องมีการจัดการเกี่ยวกับผู้ตาย หรือศพ หรือผี เพราะถือว่าการตายเป็นเรื่องอัปมงคล เป็นเสนียดจัญไร จะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้ผีดุร้ายกลับมาทำอันตราย หลอกหลอนผู้คนได้ หรืออาจจะเป็นการแสดงความนับถือ ความรักความห่วงหาอาลัยต่อผู้ตายด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

- การอาบน้ำศพ
การอาบน้ำศพ เป็นพิธีที่จะต้องทำในขั้นตอนแรก โดยญาติของผู้ตายจะทำการอาบน้ำศพให้ร่างกายสะอาด ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้จากไปสู่โลกอื่นอย่างบริสุทธิ์ หมดจดในสมัยก่อนจะต้มน้ำให้เดือด แล้วผสมด้วยน้ำเย็นตักอาบ ใช้ขมิ้น มะกรูดตำปนกันขัดถูศพให้ทั่ว บางแห่งใช้น้ำต้มใบส้มป่อยกับมะกรูดขัดถู ซึ่งวัสดุเหล่านี้เป็นการกระทำเพื่อแสดงออกถึงความเคารพรักในหมู่ญาติพี่น้อง จึงปฏิบัติต่อศพอย่างดี และปรารถนาจะให้ผู้ตายหมดสิ้นบาปกรรมที่เคยทำไว้
เมื่อทำความสะอาดศพดีแล้ว ก่อนจะมัดศพก็แต่งตัวศพให้เสร็จก่อนดังนี้
- หวีผม
การหวีผมศพมีความเห็นที่แตกต่างกัน บางท่านก็ว่าต้องหวีเพียง 3 ครั้ง บางท่านก็ว่าต้องหวีเป็น 2 ซีก คือหวีไปทางด้านหน้าและด้านหลัง หมายถึง ให้คำนึงถึงเรื่องอดีตคือ การกระทำของผู้ตายตั้งแต่เกิดจนตาย อันจะเป็นเหตุกำหนดอนาคตว่าผู้ตายจะไปเกิดยังที่ใดซึ่งยังให้ข้อคิดกับคนเป็นอีกว่า หากต้องการอนาคตที่ดีก็ต้องสร้างเหตุในปัจจุบันให้ดีก่อน เมื่อหวีแล้วต้องหักหวีออกเป็น 2 ท่อนขว้างทิ้ง บางแห่งหักหวีออกเป็น 3 ท่อน แล้วกล่าวว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ทางภาคอีสานหวีลงอย่างเดียวห้ามหวีขึ้น เมื่อหวีแล้วหักออกเป็น 2 ท่อนทิ้งเลย (แปลก สินธิรักษ์. 2504 : 162)
ต่อจากนั้นจึงแต่งตัวศพด้วยการเอาแป้งน้ำหอมมาทา และประพรมบริเวณใบหน้าตลอดจนทั่วร่างกายนุ่งผ้าให้ศพ ใช้ผ้าขาวนุ่ง 2 ชั้น ชั้นในเอาชายพกไว้ข้างหลังแล้วนุ่งทับข้างนอกอีกทีหนึ่ง เอาชายพกไว้ข้างหน้า การที่นุ่งผ้าเอาชายพกไว้ข้างหลังนับเป็นการนุ่งสำหรับคนตายและการนุ่งเอาชายพกไว้ข้างหน้านั้นนุ่งสำหรับคนเป็น หมายถึง การเกิดต่อไป แสดงว่าตนเราเมื่อเกิดมาแล้วต้องตาย ตายแล้วก็เกิดอีก ทนทุกขเวทนา เวียนว่ายตายเกิด อยู่ไม่รู้จักสิ้นสุด การที่นุ่งขาวนั้นเป็นการแสดงทางที่จะหนีทุกข์ คือ ให้รักษาศีลปฏิบัติธรรม รักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ (อุรคินทร์ วิริยะบูรณะ. 2531 : 57)

- การนุ่งผ้าและสวมเสื้อให้ศพ
ในประเพณีความเชื่อของชาวพุทธนั้น การใช้เครื่องนุ่งห่มแต่งตัวศพต้องใช้ของใหม่ ๆ ทุกอย่าง ไม่ใช่นุ่งขาวห่มขาว เครื่องนุ่งห่มต้องทำตำหนิเสียทุกชิ้น คือฉีกให้เสียหายบ้างเล็กน้อย เวลานุ่งให้กลับทาง เช่น นุ่งผ้าซิ่นก็ต้องกลับทางตีนขึ้นข้างบน เอาหัวซิ่นไว้ข้างล่าง การนุ่งให้เอาชายพกไว้ข้างหลัง ผ้าที่ห่มให้เฉลียงบ่า เสื้อที่สวมให้กลับข้างหน้าไว้ข้างหลังอย่างนี้เป็นต้น (เสถียรโกเศศ. 2507 : 54)

- ใส่เงินในปากศพ
เงินใส่ปากศพนั้นชาวอีสานนิยมใช้เงินเหรียญ อาจเป็นเหรียญห้าเหรียญสิบ ทางคดีโลกถือว่ามอบให้ผู้ตายเป็นค่าเดินทาง จ้างรถจ้างเรือ สำหรับเดินทางไปสู่เมืองผีหรือเมืองสวรรค์ ทางคดีธรรม สอนให้รู้จักใช้เงินให้เป็นประโยชน์ คือ ให้แบ่งกิน แบ่งใช้ เก็บไว้เป็นทุน ทำบุญให้ทาน อย่าตระหนี่ถี่เหนียวเกินไป (ปรีชา พิณทอง. 2530 : 40)
- ขี้ผึ้งปิดตาปิดปาก
มีการใช้ขี้ผึ้งสีปิดตาปิดปากศพ ทางคดีโลกถือว่า ป้องกัน ความอุจาดลามก ทางคดีธรรมถือว่า เป็นการสอนคนเป็นให้รู้จักระวังรักษาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอย่าให้ทุกข์เกิดขึ้น เพราะทุกข์ที่เกิดขึ้น เกิดจากการไม่สำรวม ระหว่างสิ่งเหล่านี้

- การมัดศพ
เมื่อแต่งตัวศพเรียบร้อยแล้วก็ถึงตอนมัดศพเรียกว่า มัดตราสัง คือ มัดสามเปลาะให้มือถือกรวยดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องตราสังใช้ด้ายดิบมาจับให้เป็นเส้นขนาด 3 ทบ เพื่อให้เหนียวดึงไม่ขาด ทำให้เป็นห่วงคล้องคอ มือ เท้า ทางคดีโลกถือว่าเพื่อมิให้ศพพอง ขึ้นอืด

- โลงแตก
ทางคดีธรรมถือว่า เครื่องผูกมัดคนมี 3 อย่าง คนที่มัดตราสังจะพูดว่า “ปุตโต คีเว”หมายความว่า ห่วงลูกผูกคอตรึงหัวใจอยู่เสมอจากนั้นจะทำการรัดประคตที่อกแล้วเอาเชือกโยงมากลางตัว ทำห่วงตะกรุดเบ็ดผูกหัวแม่มือแล้วรวบรัดผูกมัดมือทั้งสองให้พนมไว้ที่อกพูดคาถาว่า “ภริยา หัตเถ” หลังจากนั้นโยงด้ายดิบมาที่เท้า ทำบ่วงผูกข้อเท้าทั้งสองข้างให้ติดกันแล้วพูดคาถาว่า “ธนัง ปาเท” เชือกคือสมบัติมัดที่เท้า ตรงกับภาษิตโบราณว่าไว้ว่า ตัณหารักลูกคือเชือกผูกคอ ตัณหา รักเมียเหมือนดังเชือกผูกศอก ตัณหารักข้าวของคือดั่งปอกรัดตีน ตัณหาสามอันนี้มาฝั้นให้เป็นเชือกให้กลิ้งเกลือกอยู่ในวัฏฏะสงสาร (ปรีชา พิณทอง. 2530 : 41 )

2) การตั้งศพ
ชาวพุทธโดยศพที่แต่งแล้วจะใส่ในโลงหรือไม่ก็ตาม จะตั้งไว้ในที่ใดก็ตาม ต้องหันหัวศพไปทางทิศตะวันตกเสมอ ทางคดีโลกถือว่าการนอนหันหัว ไปทางทิศตะวันตกนอนอย่างผี หันไปทางทิศตะวันออกนั้นนอนอย่างคน ทางคดีธรรมถือว่าสอนให้พิจารณาว่า การตาย คือ การเสื่อมไป สั้นไป เหมือนกับพระอาทิตย์ตกไป

- การทำโลงศพ
ไม้ที่นำมาทำโลงศพเป็นไม้ประเภทเนื้ออ่อน แห้งเร็ว ซับน้ำได้ง่าย และติดไฟได้เร็ว สะดวกในการตอกตะปู ปัจจุบันไม้ที่นำมาทำโลงศพนั้นหาได้ยาก จึงเลือกเอาไม้อะไรก็ได้ที่จัดอยู่ในลักษณะที่กล่าวมาแล้ว หากเป็นโลงศพที่จำหน่ายตามท้องตลาดมักใช้ไม้กระดานอัด และไม้ประเภทเนื้ออ่อนทั่ว ๆ ไป การทำโลงศพ ทำให้ปากโลงยาวกว่าตอนล่างของโลงศพเล็กน้อยหรือตาม ความเหมาะสมกับส่วนสูงของผู้ตาย เมื่อประกอบเป็นตัวโลงและฝาโลงแล้วจะเอาปูนซีเมนต์ดิบฉาบบาง ๆ ภายในทั้ง 4 ด้าน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเน่า น้ำหนองไหลซึมออกมา เอายาฉุน ถ่านไฟ ใบฝรั่ง กากใบชา เท่าที่จะหาได้โรยใส่ไว้ภายในเพื่อดับกลิ่น และดูดซึมซับน้ำเน่า กลิ่นเน่าเหม็น เมื่อทำโลง เสร็จแล้ว ช่างที่ทำโลงศพจะนำเครื่องบูชาที่เตรียมไว้แล้วมาปัดรังควานภายในโลงศพ และใช้มีดฟัน ไปที่ขอบโลงทั้ง 4 ด้าน เพื่อแสดงว่าเป็นโลงศพที่เก่า และไม่ดีต้องเผาทิ้ง
ในอดีตเมื่อทำโลงศพเสร็จ ชาวบ้านก็มีภูมิปัญญาที่จะสร้างสุนทรียศาสตร์โดยใช้ ครามทาข้างโลงให้สวยงาม ต่อมาจึงใช้แบบแทงหยวกโดยใช้กาบกล้วยแทงด้วยมีดเป็นลายไทยติดข้างโลง ภายหลังจึงตัดโฟมลายไทย และตัดลายกระดาษด้วยสีสันที่งดงามขึ้น ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยโดยใช้โลงศพติดแอร์ลวดลายไทยติดมากับโลงศพ จึงไม่จำเป็นต้องออกแบบ และใช้ฝีมือช่างแต่อย่างใด

- การเบิกโลง
สัปเหร่อ เป็นคนจัดการโดยเอาไม้ไผ่ มาจักเป็นซี่เล็กๆ ทำเป็นบันได 4ขั้นความกว้างเท่ากับความกว้างของโลงศพ สำหรับวางไว้บนปากโลงเอาเฝือกผืนหนึ่งทำด้วยไม้ไผ่ 8 ซี่ ตัดติดกันเหมือน แล่งวางก้นโลงเอาผิวไม้ขึ้นวางระยะห่างพอสมควร สำหรับรองรับเสื่อ นำไม้ไผ่มาผ่าเพื่อที่ใช้สำหรับคีบสายสิญจน์ไม้นี้เรียกว่าไม้ปากกาจับโลงเอาเทียน 8 เล่ม ติดคาบที่ปากโลงระหว่างไม้ปากกาที่วาง 8 ช่องมีกระทงใบตองขนาดเล็กใส่อาหารวางไว้บนปากโลง 8 ช่อง ใกล้ๆ กับเทียนเป็นเครื่องสังเวยเทพทั้ง 8 ทิศ ส่วนฝาโลงนั้นให้ทิ้งไว้ข้างโลง เตรียมขันไว้สำหรับทำน้ำมนต์ แล้วทำน้ำมนต์ แล้วว่าคาถาว่า "สิโรเม พุทฺธเทวญฺจ นลาเฏพฺรหฺมเทวตา หทยํ นรายกญฺเจว เทวหตฺเถ ปรเม สุราฯ ปาเท วิสฺสณุกญฺเจว สพฺพกมฺมา ปสิทฺธิ เม สิทฺธิกิจฺจิสิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิเตโช ชโย นิจจํ แล้วนำน้ำมนต์พรมที่โลง-ศพ 3 หน ใช้มีดหมอสับปากโลง 3 ที สับกลางโลงสลับซ้ายขวารอยสับนี้ เป็นเครื่องบอกว่า ศีรษะอยู่ทางนี้ แล้วผลักเครื่องเซ่นทั้งหมด พร้อมด้วยไม้ปากกาที่ทำไว้ลงไปในโลงทั้งหมด เป็นอันเสร็จพิธีเบิกโลง นำศพบรรจุลงโลง
พิธีเบิกโลง เป็นพิธีกรรมที่ทำกับโลงศพก่อนที่จะยกศพใส่โลง โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อทำให้โลงศพว่างจากสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไร ผีสางรุกขเทวดาทั้งหลายที่สิงสถิตอยู่กับไม้ที่เอามาทำโลงถือว่าเป็นโลงที่มีวิญญาณเป็นเจ้าของแล้ว เมื่อนำศพผู้ตายบรรจุวิญญาณของคนตายจะถูกรบกวนถูกรังแก และไม่ยอมเดินทางไปกับซากศพของตนจะเป็นผีสิงสถิตอยู่ในบ้านไม่ไปผุดไปเกิดเสียทีนับว่าเป็นจัญไร จึงให้มีพิธีทำน้ำมนต์ธรณีสารอันเป็นน้ำมนต์กำจัดเสนียดจัญไรให้ออกจากโลงอาราธนาคุณพระรัตนตรัยมาช่วยขจัดขับไล่ด้วยอีกทางหนึ่ง
จากการสังเกตของผู้ศึกษา ที่ได้ไปร่วมงานศพในที่ต่าง ๆ ได้เห็นการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ใส่ลงไปในโลงศพก่อน ก่อนที่จะนำศพลงในโลง หลาย ๆ ลักษณะ เช่น นำเสื่อและฟูกใส่ลงโลงแล้วนำปูนขาวโรยทั่วบริเวณฟูก และเสื่อเพื่อเป็นการดูดซึมน้ำเหลืองที่ซึมออกจากร่างศพ และป้องกันสัตวแมลง นอกจากนั้นยังช่วยป้องกันกลิ่นเหม็นอับจากศพได้อีก นอกจากนั้นยังนำยาฉุน และใบฝรั่งวางหรือโรยรอบ ๆ ศพ เพื่อเป็นการป้องกันกลิ่นหรือดับกลิ่นศพที่เก็บไว้หลาย ๆ วันซึ่งอาจจะรบกวนแขกที่มาร่วมทำพิธีทางศาสนาได้ ปัจจุบันนิยมใช้โลงเย็นเป็นส่วนมาก การใช้ยาฉุน ใบฝรั่งหรือสิ่งป้องกันกลิ่นพึงรังเกียจอื่นจึงเลิกใช้ไป

- ตามไฟศพ
เมื่อตั้งศพไว้เรียบร้อยแล้วให้จุดตะเกียงหรือไต้ไฟทางศีรษะศพ ตลอดทั้งวันและคืน ซึ่งมีความหมายนัยว่า ทางคดีโลกถือว่าจุดไฟไว้แทนไฟธาตุผู้ตายบ้างจุดไว้กันความกลัวบ้างทางคดีธรรมถือว่าสอนให้คนมีปัญญาเพราะปัญญานั้นเป็นแสงสว่างในโลกที่โลกเจริญรุ่งเรืองได้ก็เพราะปัญญา

- สวดมาติกา
ญาติมิตรของผู้ตายจะนิมนต์พระมาสวดศพ ซึ่งชาวอีสานเรียก ซักอนิจจา หมายถึงการสวดพระอภิธรรมหน้าศพหรือสวดหน้าศพ กระทำในวันตายซึ่งได้บรรจุศพและมัดตราสังไว้แล้ว โดยมีจำนวนพระสงฆ์ 4 รูปเป็นผู้สวด เมื่อพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมจบ เจ้าภาพก็ถวายเครื่องไทยธรรมเป็นเสร็จพิธี

3) วันตั้งศพบำเพ็ญกุศล
จากการศึกษาประเพณีงานศพของชาวไทยส่วนมากพบว่า การตั้งศพนิยมนำศพไว้ที่บ้าน เนื่องจากเกิดความรักความผูกพันจากที่เคยอยู่ด้วยกันมานานครั้นจะนำไปฌาปนกิจศพโดยเร็วก็เหมือนกับการผลักไสไล่ส่งถ้าผู้ตายมีอายุมากก็ยิ่งให้เวลาอยู่ที่บ้านนาน เช่น 5 คืน 7 คืน เป็นต้น ยกเว้นกรณีที่สิ้นชีวิตแบบตายโหง คือ ตายเร็วกว่าเวลาที่ควรจะเป็นจึงรีบกระทำการฌาปนกิจเพื่อให้เสร็จโดยเร็ว แค่คืนหนึ่งก็เพียงพอแล้ว

- การตั้งศพบำเพ็ญกุศล
เป็นพิธีกรรมที่มีจุดประสงค์เพื่อจะได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตายเป็นสำคัญและอีกส่วนหนึ่งเป็นการให้เจ้าภาพญาติมิตรและคนอื่น ๆ ร่วมแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีความเคารพรักนับถือที่มีต่อผู้วายชนม์อีกด้วย วันตั้งศพบำเพ็ญกุศลอาจกำหนด 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน แล้วแต่สถานภาพของเจ้าภาพที่มีฐานะแตกต่างกันทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมทั้งอายุขัยของผู้ตายอีกด้วยโดยทั่วไปเจ้าภาพจะนิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม จำนวน 4 จบ สวดเป็นระยะ จะสวดครึ่งคืน หรือกว่าแล้วแต่ความต้องการหรือความสะดวกของเจ้าภาพ เมื่อสวดเสร็จก็ถวายเครื่องไทยธรรม
- การสวดพระอภิธรรม
เป็นการสอนคนเป็นให้พิจารณามรณานุสสติกัมมัฏฐาน ทางคดีโลกถือว่าเป็นการสวดเพื่อให้บุญแก่ผู้ตาย ทางคดีธรรมถือว่าเป็นการชดใช้บุญคุณของท่าน ผู้มีพระคุณ เช่น พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้แสดงพระอภิธรรม 7 คัมภีร์โปรด เป็นการชดใช้ค่าข้าวป้อน และน้ำนม เป็นต้น
หลังจากพระสวดพระอภิธรรมเสร็จแล้ว ญาติมิตรและคนอื่น ๆ ก็จะมารวมกันที่บ้านเจ้าภาพ คือ จะอยู่เป็นเพื่อนศพมิให้เงียบเหงาวังเวง เป็นการผ่อนคลายความทุกข์โศกอันเนื่องมาจากความสูญเสียคนในครอบครัวของเจ้าภาพ ในอดีตมีการอ่านหนังสือผูกหนังสือใบลาน เล่านิทานชาดกสู่กันฟัง บางกลุ่มมีการละเล่น เช่น เสือกินหมู เสือกินวัว หมากฮอส คล้องช้าง หรือแม้แต่เกี้ยวพาราสีกันในระหว่างคนหนุ่มคนสาว ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการฉายวิดีโอ ซีดี วีซีดี และหันมาเล่นการพนันทั้งไพ่ ไฮโล ถึงแม้จะเล่นในวงเงินไม่มาก แต่ก็เป็นที่นิยมกันแทบทุกงาน

4) วันฌาปนกิจศพ (วันเผา)

- ฌาปนกิจศพ
ชาวไทยเรียกกันทั่วไปว่า วันเผาศพ เป็นวันสำคัญที่สุด เนื่องจากมีขั้นตอนพิธีกรรมมากมาย และเป็นวันสุดท้ายของศพที่จะเข้าสู่เชิงตะกอนวันห้ามเผาศพ โบราณท่านห้ามวันพระ วันอังคาร และวันเก้ากอง วันนอกนั้นก็เผาได้ทั้งสิ้น
สำหรับพิธีเผาศพของชาวไทยส่วนใหญ่แล้วจะปฏิบัติคล้าย ๆ กับพิธีศพทั่วไปของชาวไทยในภาคต่าง ๆ ซึ่งมีรายละเอียดจากการสังเกตของผู้ศึกษาตามขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนทำการเผาดังนี้

- การยกศพออกจากเรือน
มีประเพณีปฏิบัติจนเป็นเงื่อนไขว่า ก่อนยกศพออกจากเรือนเจ้าภาพจะต้องนิมนต์พระสงฆ์มาสวดศพที่บ้านให้ผู้ตายเรียกว่ามาให้บุญ และนิมนต์พระสงฆ์มาบวชให้ลูกหลานผู้ตายเพื่อจะทำพิธีจูงศพ ชายให้บวชเป็นสามเณรถือศีล 10 ข้อ หญิงให้บวชเป็นชีพราหมณ์ถือศีล 8 ข้อ เมื่อถึงเวลาขณะยกศพออกพ้นเรือนก็จุดประทัดเป็นสัญญาณเพื่อให้ชาวบ้านทั่วไปร่วมส่งสการศพโดยพร้อมเพียงกัน ในอดีตเมื่อยกศพพ้นเรือนแล้วบรรดาลูกหลานของผู้ตายจะต้องเทน้ำในหม้อ ในคุในถังคว่ำทั้งหมด ชักบันไดขึ้นเก็บและพลิกกลับบันไดเสีย โดยมีความเชื่อกันว่าทำเพื่อบังมิให้วิญญาณผู้ตายจำทางกลับบ้านได้
- การส่งสการศพ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (2542 : 1161) อธิบายว่า พิธีกรรมเกี่ยวกับการปลงศพ ส่งสการก็ว่า เช่น รุดเร่งส่งสการ พระอริยานุวัตร เขมจารี(2526 : 15 – 16) ได้ให้ความเห็นว่า การส่งสการศพ คือการส่งสักการะศพนั่นเอง แต่ชาวไทยเรียกสั้นจึงกลายเป็น ส่งสการศพ ได้แก่ การนำเครื่องสักการะคือ ดอกไม้ ธูปเทียน ไปสักการะเคารพศพการทำสักการะศพนี้ถือเป็นประเพณีที่ดีงาม เผื่อว่า เมื่อเราได้ประมาท พลาดพลั้งแก่ผู้ตายถ้าเราเอาเครื่องสักการะไปทำความเคารพในป่าช้าก็ถือว่าหมดโทษหมดภัยต่อกัน ดังนั้น จึงมีผู้นิยมไปส่งสการศพผู้ตายถึงป่าช้าเป็นจำนวนมาก

- การหามศพ
ประเพณีหามศพของชาวไทยให้ใช้คานหามไม้ไผ่บ้าน 2 ลำ เอาโลงศพขึ้นตั้งขันด้วยตอกชะเนาะ เลือกลูกหลานชายหนุ่มหามข้างละ 3 - 4 คน ก่อนหามนำธูปเทียน ดอกไม้ทัดหูแล้วยกคานหามศพขึ้นบ่า เอาเท้าศพไปก่อน ห้ามพักกลางทาง ห้ามเปลี่ยนบ่า ห้ามข้ามสวนข้ามนา ด้วยถือว่าเป็นของต้องห้าม ปัจจุบันในชุมชนเมืองพบว่าญาติพี่น้องจะช่วยกันขยับโลงศพจากที่ตั้งแล้วยกลงจากเรือนใส่บนรถกระบะเล็กที่มีการตกแต่งอย่างดีไว้พร้อมไว้ การหามศพแบบเดิมก็นับวันจะสูญหายไป

- การจูงศพ
เมื่อเคลื่อนศพไปสู่ป่าช้า จะมีการจูงศพโดยใช้ด้ายโยงไหมโยงจำนวนหลายทบขนาดใหญ่เป็นเชือกจูง ถือว่าเป็นเกียรติแก่ผู้ตายและเจ้าภาพ ถ้าผู้ตายมีลูกชายหลานชายก็บวชเป็นสามเณรจูงศพ ถ้ามีลูกสาวหลานสาวก็บวชชีพราหมณ์จูงศพไปป่าช้าด้วยกัน ในขบวนจูงศพจะมี พระสงฆ์จำนวนหนึ่งนำหน้า ผู้บวชจูง ผู้เคารพนับถือและญาติมิตรตามลำดับ ระหว่างเดินทางมีการหว่านข้าวตอกนำหน้าการจูงศพ ตลอดระยะทาง ทางคดีโลกถือว่า หว่านข้าวตอกให้ผีลงมาเก็บกิน จะไม่ทำให้ผู้หามหนัก ทางคดีธรรมถือว่า สอนให้คนเป็นพิจารณาดูคนตายว่า คนตายรูปกับนามแตกจากกันกันเหมือนข้าวตอกแตกก็เป็นเช่นนี้

- ที่ปลงศพ
ที่ปลงศพหรือที่เผาศพปัจจุบันมี 3 ประเภท คือ กองฟอน เมรุชั่วคราวหรือเมรุลอย และเมรุถาวร การเผาศพตามแบบดั้งเดิมของชุมชนนั้นๆ จะใช้กองฟอนทั้งนั้นจากการศึกษาและสังเกตการหาที่ตั้งกองฟอนเพื่อเผาศพหลายต่อหลายครั้งพบว่า มีผู้นำพิธีเสี่ยงทายหา ที่ตั้งกองฟอนโดยการโยนไข่ไก่ดิบไปข้างหน้า เพื่อให้ไข่แตกตรงไหนจะได้เผาตรงนั้น ซึ่งกว่าไข่ จะแตกอาจโยนเสี่ยงถึง 3 – 4 ครั้งก็เคยมี หลังจากนั้นก็ช่วยกันหาฟืนตั้งกองฟอนเพื่อทำพิธีเผาต่อไป ส่วนเมรุถาวร ไม่มีการเสี่ยงทายด้วยการโยนไข่ดิบแต่อย่างใด

- การเวียนสามรอบ
เมื่อหามศพไปถึงกองฟอนที่ป่าช้าแล้ว ก็ให้หามเวียนซ้ายรอบกองฟอน 3 รอบ เป็นสิ่งมีความหมายว่า ทุกชีวิตจะตกอยู่ในห้วงวัฏฏะ วน 3 รอบ คือ วนเวียนอยู่กับเหตุ 3 อย่าง ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก ก่อนจะยกศพขึ้นตั้งกองฟอน จะกระแทกกองฟอนแรง ๆ3 ครั้ง เป็นสัญญาณเตือนผู้ตายว่าที่นี่เป็นบ้านที่ตั้งอยู่แห่งใหม่ การกระแทก 3 ครั้งนั้นหมายถึงอนิจจังไม่เที่ยง ไม่คงที่ คือ ไม่เด็กตลอดไม่หนุ่มตลอด เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกขัง เจ็บปวดทุกข์ทรมาน และอนัตตา ดับตายหรือเอาไว้ไม่อยู่นั่นเอง (สวิง บุญเจิม. 2539 : 520 – 521)

- คาถากระแทกโลง
3 ครั้งว่า ยังกิญจิ สมุทยะ ธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมัง อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติทั้งหมดก็ดับไปตามธรรมชาติ

- การล้างหน้าศพ
เมื่อตั้งศพแล้วก่อนเผาก็จะมีการล้างหน้าศพ ในพิธีการมักเรียกรดน้ำศพ บราณอีสานนิยมเอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ โดยมีความเชื่อว่า เป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ที่สุดเมื่อล้างแล้วจะทำให้สวยงามบริสุทธิ์ไปจนถึงชาติหน้าภพหน้า พิธีกรรมนี้จะมีพระสงฆ์นำรดน้ำก่อนจึงเป็นฝ่ายฆราวาสญาติมิตร มีการบริกรรมคาถาล้างหน้าศพว่า นัตถิเม เอตะสังสะโย แปลว่า ไม่ต้องสงสัยหรอกว่าเราจะไม่ตาย

- การโยนผ้าข้ามโลง
เมื่อทำพิธีรดน้ำศพเสร็จแล้วญาติของผู้ตายจะโยนผ้าที่คลุมศพข้ามโลง กลับไปกลับมา 3 ครั้ง โดยโยนข้ามโลงศพไปมาให้ตกดิน 2 ครั้ง พอโยนครั้งที่สามจึงมี ผู้คอยรับเอาไว้แล้วนำเอาไปถวายพระ การโยนผ้านี้ชาวบ้านเชื่อกันว่า ทำให้ผีหลงทาง คือ โยนไปโยนมาผีก็ตาลาย เลยหลงทางตามมาเอาผ้า ในทางพระท่านสอนคนเป็นว่าสมบัติหรือสิ่งของในโลก มันเป็นของในโลก มิได้เป็นของใคร มันหมุนเวียนเปลี่ยนมืออยู่อย่างนั้น ไม่ว่าเงินหรือสิ่งของจะเก็บจะสะสมไว้ทำไมมากมาย ตายไปมันก็เป็นของคนอื่น ถ้าเขาใช้ในทางที่ถูกก็ดีไป แต่ถ้าเขาใช้ผิดบาป กรรมก็ตกเป็นของผู้สะสมด้วย เพราะเป็นเสมือนสะสมอาวุธให้คนใช้ทำชั่ว
- คาถาโยนผ้ารับผ้า
ว่า ปุตตา นัตถิ ทะนะมัตติ ฌาปิตัมปิ
นะเต สะรีรัง กุโต ปุตตา กุโต ธะนัง
แปลว่า จะมัวบ่นเพ้ออยู่ทำไมว่าลูกของเรา ทรัพย์ของเรา แม้ร่างกายของเขาก็ยังถูกเผาอยู่ขณะนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทรัพย์อยู่ที่ไหน ลูกอยู่ที่ไหน

- การทำไม้ข่มเหง
หลังจากโยนผ้าแล้ว ก็จะหาไม้ขนาดใหญ่และหนักพอสมควร 2 ท่อนมาวางทับโลงศพไว้ทั้งซ้ายและขวา ตามประเพณีอีสานเรียกว่าไม้ข่มเหง คนไทยมีความเชื่อเป็น 2 อย่าง คือ กันมิให้โลงศพตกลงไปข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อไฟไหม้ฟืนจะยุบลง และเชื่อว่าผีจะออกมาอาละวาดไม่ได้ เพราะกลัวไม้ข่มเหงใหญ่นี้ ส่วนทางพุทธศาสนาสอนคนเป็นว่าโลกนี้มีการต่อสู้กันอยู่ 2 อย่างคือ ธรรม (ความดี) กับ อธรรม (ความชั่ว) ทั้งสองฝ่ายจะสู้กันอย่างหนักถ้าฝ่ายไหนอ่อนแอ ฝ่ายนั้นก็จะถูกข่มให้ตายไปกับศพ

- คาถาวางไม้ข่มเหง
ให้ว่า นะหิธัมโม อะธัมโม จะอุโภ สะมะวิปากิโน
อะธัมโม นิระยัง เนติ ธัมโม ปาเปติ สุคะติง
แปลว่า ความดีกับความชั่วให้ผลต่างกัน ความชั่วพาไปตกทุกข์ ความดี พาไปถึงสุข

- การทอดผ้าบังสุกุล
ก่อนจะเผาศพจะมีพิธีทางศาสนาเริ่มด้วยไหว้พระสมาทานศีลแสดงพระธรรมเทศนาหน้าศพ สวดมาติกาบังสุกุล และถวายปัจจัยไทยธรรม แล้วจึงทอดผ้าบังสุกุลทองสุข มันตาทร (2543 : 86 – 87) กล่าวถึงหลักปฏิบัติในการทอดผ้าบังสุกุลในพิธีศพไว้ว่า ถ้ามีการทอดผ้าบังสุกุลในพิธีศพ ให้เชิญท่านผู้มีอาวุโสน้อยไปหาท่านผู้มีอาวุโสมากตามลำดับ และเชิญประธานในพิธีทอดผ้ามหาบังสุกุลเป็นอันดับสุดท้าย เพื่อจะได้ประกอบพิธีประชุมเพลิงหรือประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพต่อไป

- ผู้เชิญ
ถือภาชนะสำหรับรองรับผ้าบังสุกุล เช่น พานทองด้วยมือทั้งสองประคองเข้าไปเชิญ โดยทำความเคารพแล้วเชิญและเดินตามหลังผู้รับเชิญไปทางซ้าย เมื่อไปถึงเมรุแล้วยืนห่างจากผู้รับเชิญประมาณ 1 ก้าว มอบผ้าบังสุกุลให้ท่าน แล้วลงจากเมรุ เตรียมผ้าบังสุกุลใส่ภาชนะรองรับไปเชิญท่านต่อไป
- ผู้รับเชิญ
เดินไปข้างหน้าผู้เชิญ ยังไม่ต้องรับผ้าบังสุกุล เมื่อถึงเมรุแล้วยืน เบื้องหน้าหีบหรือโลงศพหรือโกศศพ ทำความเคารพตามประเพณีนิยม รับผ้าบังสุกุลแล้ววางทอดไว้ วางด้านขวางหรือตั้งฉากกับโลงศพ แล้วภาวนาว่า รูปัง ชีรติ มัจจานัง นามะโคตตัง นะชีระติ
ขณะที่เชิญแขกขึ้นทอดผ้าบังสุกุล ก็ต้องนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นพิจารณาควบคู่กันไปขณะที่พระสงฆ์ขึ้นไปบนเมรุ ผู้ทอดผ้าบังสุกุลพึงน้อมไหว้ และประนมมือ ขณะพระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล แล้วน้อมไหว้อีกครั้งหนึ่ง ขณะพระสงฆ์ลงจากเมรุ

- ข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์
ให้ถือพัดด้วยมือซ้าย มือขวาจับที่ผ้าบังสุกุล โดยให้นิ้วทั้ง 4 สอดไว้ใต้ผ้า หัวแม่มืออยู่บนผ้า แล้วพิจารณาบังสุกุลว่า
อนิจจา วตสังขารา อุปาทว ยธัมมิโน
อุปชิตตวา นิรุชฌันติ เตสังวูป สโมสุโข

- สำหรับพิธีพระราชทานเพลิงศพทั่วไป
พระสงฆ์ใช้พัดรองในการพิจารณาผ้ามหาบังสุกุล ยกเว้นถ้าเป็นผ้าไตรพระราชทาน พระสงฆ์จึงใช้พัดยศ

- การทอดผ้าบังสุกุลที่อาสน์สงฆ์
ให้ทอดผ้าวางขวางไว้บนภูษาโยงหรือด้ายโยงเบื้องหน้าพระสงฆ์แต่ละรูป ถ้าที่ว่างมีน้อยจะวางยาวตามความยาวของภูษาโยงหรือด้ายโยงก็ได้ (ไม่ต้องประเคน) แล้วนั่งอยู่เบื้องหน้าพระสงฆ์ ประนมมือขณะพระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล

- การฌาปนกิจศพ
เป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากประธานและคนอื่น ๆ ทอดผ้าบังสุกุลเสร็จแล้ว โดยประธานในพิธีจะเป็นผู้ทอดผ้ามหาบังสุกุลและวางดอกไม้จันทน์ ผู้มาร่วมงานหรือมาส่งสการ ทุกคนลุกขึ้นทยอยกันขึ้นวางดอกไม้จันทน์บนเมรุ โบราณอีสานท่านว่า เพื่อเป็นการไม่ให้เป็นบาปที่ไปเผาร่างกายพ่อแม่หรือญาติ หรือเพื่อนกัน ให้บริกรรมคาถาว่า
อะยัมปิโข เม กาโย เอวังภาวี
เอวังธัมโม เอวังอะนะตีโต
แปลว่า ร่างกายของเรานี้ก็จะเป็นอย่างนี้ จะมีสภาพอย่างนี้และข้ามพ้นความเป็นอย่างนี้ไม่ได้เลย
เมื่อทุกคนวางดอกไม้จันทน์เรียบร้อยแล้วก็จัดการเผาต่อไป เป็นอันเสร็จพิธีฌาปนกิจศพ เมื่อเสร็จจากการเผาศพ

- ผู้ที่ไปร่วมงานต้องเข้าวัดล้างมือ
ล้างหน้าหรืออาบน้ำประเพณีนี้เป็นการปลดเปลื้องมลทินที่ไปเผาศพ มีความเชื่อว่าได้ล้างสิ่งจัญไรหรืออัปมงคลที่อาจติดตัวมาให้สะอาดหมดจด เหลือแต่สิ่งมงคลนั่นเอง ประเพณีที่ยังทำกันอยู่ในชนบทก็คือ ล้างเท้า ล้างหน้า ล้างศีรษะ เสยผม หรือบางแห่งก็ไปอาบน้ำในสระที่วัดก็มี (เสฐียรโกเศศ. 2531 : 162)

5) วันหลังฌาปนกิจศพ (วันเก็บอัฐิ)
การเก็บกระดูกหรืออัฐิหลังจากเผาศพ ส่วนใหญ่จะทำในวันรุ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าไฟที่เผาศพดับสนิทแล้ว (บางแห่งก็เก็บกระดูกหลังจากเผาศพได้ 3 – 7 วัน) บรรดาลูกหลาน และญาติมิตรของผู้ตายจะไปนิมนต์พระสงฆ์ไปยังที่เผาศพ จัดอาหารคาวหวานไปด้วย เมื่อไปถึงก็นำอาหารคาวหวานเลี้ยงผีคนตายตรงบริเวณที่เผาศพนั้น ลูกหลานจุดธูปเทียนบอกผีผู้ตายให้กินอาหาร ทิ้งไว้สักครู่เมื่อคิดว่าผู้ตายกินอิ่มแล้วจึงยกอาหารไปเก็บ หลังจากนั้นบรรดาลูกหลานและญาติพี่น้องก็ช่วยกันเกลี่ยเศษกระดูกและขี้เถ้าบริเวณที่เผาให้เป็นรูปคนนอนหงายหันหัวไปทางทิศตะวันตก สมมุติว่าตาย เสร็จแล้วนิมนต์พระสงฆ์มาบังสุกุลตาย โดยสวดว่า
อนิจจา วต สังขารา อุปาทว ย ธัมมิโน
อุปชิตตวา นิรุชฌันติ เตสังวูป สโมสุโข
แปลความว่า สังขารทั้งหลายไม่เทยี่ งหนอ มีความเกิดขนึ้ และเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความเข้าไปสงบระงับแห่งสังขารทั้งหลายเท่านั้น ย่อมนำมา ซึ่งความสุข

- เมื่อพระสงฆ์บังสุกุลตาย (ชักอนิจจาตาย)
เสร็จแล้ว จึงเกลี่ยรูปนั้นแล้วทำรูปใหม่ขึ้นอีก โดยหันหัวไปทางทิศตะวันออก สมมุติว่า เกิด เสร็จแล้วลูกหลานและญาติพี่น้องช่วยกันโปรยดอกไม้ ประพรมน้ำหอมลงบนร่างกระดูกนั้น แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาบังสุกุลเป็น (ชักอนิจจาเป็น) อีกครั้งหนึ่ง โดยสวดว่า
อจีรัง วตยัง กาโย ปฐวิง อธิเสสติ
ฉุฑโฑ เปต วิญญาโณ นิรัตถังวะ กลิงครัง
แปลความว่า ร่างกายนี้คงไม่นานหนอ จักนอนทับซึ่งแผ่นดิน เมื่อวิญญาณปราศจากร่างอันบุคคลทิ้งเสียแล้ว เป็นราวกับท่อนฟืนที่ไม่มีประโยชน์
เมื่อเสร็จจากบังสุกุลแล้ว จึงช่วยกันเก็บกระดูกใส่ขวดโหลที่มีฝาปิดนำไปฝากพระให้ช่วยเก็บรักษาไว้ที่โบสถ์หรือศาลาวัด ถ้าหากลูกหลานและญาติพี่น้องของผู้ตายเป็นผู้มีฐานะดีก็จะสร้างธาตุให้ภายในบริเวณวัดและนำกระดูกเหล่านั้นบรรจุไว้ในธาตุต่อไป ส่วนเถ้าถ่านบริเวณที่เผาศพก็รวบรวมห่อผ้าขาวนำไปลอยที่แม่น้ำลำคลอง ซึ่งบางแห่งก็ฝังดินไปอัฐิที่เก็บในขวดนั้นลูกหลานและญาติพี่น้องจะนำมาทำบุญแจกข้าวอุทิศส่วนกุศล อีกครั้งหนึ่ง ประเพณีการทำบุญ เช่น นี้ชาวพุทธถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมีความเชื่อว่าผู้ตายจะรอรับกองบุญที่ยิ่งใหญ่ที่ลูกหลานญาติพี่น้องจัดไปให้
ประเพณีทำบุญแจกข้าวเป็นการทำบุญอุทิศถึงผู้ตาย มีกำหนด 2 วัน วันแรกเป็นการทำบุญเลี้ยงแขก และถวายภัตตาหารเช้าและเพลแด่พระสงฆ์ มีเทศน์อานิสงส์เจริญพระพุทธมนต์ กลางคืนมีมหรสพสมโภช วันที่สองนำภัตตาหาร และไทยธรรมไปถวายพระที่วัดและทำพิธีบรรจุอัฐิธาตุเป็นอันเสร็จพิธี หากลูกหลานญาติมิตรมีฐานะดีอาจทำบุญอุทิศส่วนกุศล 50 วัน 100 วัน หรือทำบุญกฐินแทนการทำบุญแจกข้าวก็ได้

2.3 พิธีพระราชทานเพลิงศพ

2.3.1 ระเบียบการรับหีบเพลิงพระราชทาน
ให้ผู้ที่ประสงค์จะขอรับพระราชทานหีบเพลิง ทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวง เจ้าสังกัด ระบุชื่อ ตำแหน่ง ยศ โรคที่ถึงแก่กรรม สถานที่ วัน เวลาถึงแก่กรรม เครื่องราชอิสริยาภรณ์ของผู้ถึงแก่กรรม และให้ระบุด้วยว่ามีความประสงค์จะขอพระราชทานเกียรติยศ ประกอบศพอย่างไรบ้าง ประกอบการฌาปนกิจที่วัดใด เวลาใดวันที่ไม่ควรประกอบพิธีฌาปนกิจศพ คือวันศุกร์ วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ พระราชพิธีฉัตรมงคล ควรกำหนดตามประเพณีไทยคือข้างขึ้นเผาคู่ ข้างแรมเผาคี่มีรายละเอียดอื่น ๆ ที่สำนักพระราชวังกำหนดไว้ ดังปรากฏในเอกสาร สำนักพระราชวัง ต่อไปนี้

2.3.2 ระเบียบการขอรับหีบเพลิงพระราชทาน
เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ขอพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก เลขาธิการพระราชวังได้มีบัญชาว่าเพลิงที่พระราชทานไปเผาศพ ณ วัดที่อยู่ห่างจากพระบรมราชวังนอกรัศมี 50 กิโลเมตร ให้จัดเป็นหีบเพลิงพระราชทานมอบเจ้าภาพเชิญไปดำเนินการเอง โดยไม่มีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังไปปฏิบัติ ดังนั้น กองพระราชพิธี จึงได้กำหนดระเบียบการขอรับหีบเพลิงพระราชทาน ดังนี้
1. ให้เจ้าภาพศพไปติดต่อขอรับหีบเพลิงพระราชทาน ที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง
2. ในกรณีเจ้าภาพไม่สามารถไปรับหีบเพลิงพระราชทานด้วยตนเองจะมอบให้ผู้อื่นไปรับแทนก็ได้ โดยนำต้นเรื่อง หนังสือมอบฉันทะ และสำเนาบัตรประจำตัวผู้แทน ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่
3. เจ้าภาพหรือผู้แทนควรไปรับหีบเพลิงก่อนกำหนดวันพระราชทานเพลิงอย่างน้อย 3 วัน
4. ผู้ที่มารับหีบเพลิงควรแต่งกายสุภาพ
5. ให้รับหีบเพลิงพระราชทานที่โต๊ะหมู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ กองพระราชพิธีสำนักพระราชวัง
หมายเหตุ
1. การติดต่อขอพระราชทานเพลิงศพที่ได้ตามเกณฑ์ และกรณีพิเศษ (ไม่มี เครื่องเกียรติยศประกอบศพ) ในกรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และต่างจังหวัด เจ้าภาพไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ยกเว้น กรณีเขตปริมณฑล 50 กิโลเมตร เจ้าภาพจะต้องจัดรถรับ-ส่ง เจ้าหน้าที่เชิญเพลิง
2. เลขาธิการพระราชวัง มีคำสั่ง ห้ามเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังไปปฏิบัติโดยเด็ดขาด ดังนั้น เจ้าภาพจะต้องเป็นผู้ดำเนินการจัดการหีบเพลิงพระราชทานเอง
3. ห้ามเปิดหรือบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในการพระราชทา เพลิงศพ เมื่อเจ้าภาพเชิญหีบเพลิงพระราชทานไปถึงมณฑลพิธี
ผู้มีสิทธิ์ได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ การขอพระราชทานเพลิงศพและหีบศพ
ผู้มีสิทธิ์ได้รับพระราชทานน้ำหลวง เพลิงหลวง และหีบหลวง ต้องมีตำแหน่งชั้น และ
ยศ ดังต่อไปนี้
1. พระสมณศักดิ์ ตั้งแต่ชั้น “พระครูสัญญาบัตร” ขึ้นไป
2. พระราชวงศ์ ตั้งแต่ชั้น “หม่อมเจ้า” ขึ้นไป
3. ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์
4. ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นตรี ขึ้นไป
5. ข้าราชการฝ่ายทหาร ตำรวจ ยศชั้นร้อยตรี ขึ้นไป
6. พนักงานเทศบาลชั้นตรี ขึ้นไป
7. ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ “เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย”(บ.ม.) ขึ้นไป
8. ผู้มีเกียรติที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “จุลจอมเกล้า” (จ.จ.) หรือ“ตราสืบตระกูล” (ต.จ.) ขึ้นไป
9. ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญ “รัตนาภรณ์” รัชกาลปัจจุบัน
10. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาจังหวัดสมาชิกสภาเทศบาลที่ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
11. รัฐมนตรี ถึงแก่อนิจกรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
12. ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นกรณีพิเศษ
2.4 การขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
ผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณา ในการขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษควรอยู่ในหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ผู้ที่อยู่ในราชสกุล ชั้นหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวง
2. พระสงฆ์ที่พระราชาคณะพิจารณาขอพระราชทานให้
3. พนักงานรัฐวิสาหกิจระดับสูง
4. ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิ เหรียญกล้าหาญและเหรียญ ชัยสมรภูมิ
5. ผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เช่น ศิลปินแห่งชาติ นักกีฬา ระดับชาติ
อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อดีตสมาชิกสภาจังหวัด หรืออดีตสมาชิกสภาเทศบาล
6. ผู้ทำคุณประโยชน์ เช่น บริจาคเพื่อเป็นการกุศลคิดเป็นมูลค่า ไม่น้อยกว่า
300,000 บาท บริจาคร่างกายหรืออวัยวะ
7. บิดามารดาของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับ 6 หรือเทียบเท่าขึ้นไป
8. บิดามารดาของผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ตริตาภรณ์
ช้างเผือก” (ต.ช.) ขึ้นไป
9. บิดามารดาของพระสมณศักดิ์ตั้งแต่ชั้น “พระครูสัญญาบัตร” ขึ้นไป
หมายเหตุ
บุคคลผู้ทำลายชีพตนเองไม่พระราชทานเพลิงและเครื่องประกอบเกียรติยศ
กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง
20 พฤศจิกายน 2538
ข้อแนะนำการปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชทานหีบเพลิงไปพระราชทานยังต่างจังหวัด(ระยะทางจากสำนักพระราชวังเกิน 50 กิโลเมตร)
ตามระเบียบที่สำนักพระราชวังได้วางไว้ เมื่อกระทรวงเจ้าสังกัด ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเจ้าภาพ แล้วแต่กรณี ได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักพระราชวัง เพื่อขอพระราชทาน เพลิงศพหากศพนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานเพลิงศพ สำนักพระราชวังจะได้มีหนังสือแจ้งให้เจ้าภาพศพ เพื่อทราบ จากนั้นเจ้าภาพศพ หรือเจ้าหน้าที่ของจังหวัดแล้วแต่กรณี ให้ส่ง เจ้าหน้าที่ไปขอรับหีบเพลิงพระราชทานได้ที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง เมื่อได้รับหีบเพลิงพระราชทานไปแล้ว ต้องปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนดังนี้
1. เชิญหีบเพลิงพระราชทานไปวางที่ศาลากลางจังหวัด อำเภอหรือ หน่วยราชการที่สังกัดในท้องที่ หรือที่บ้านแล้วแต่กรณี ควรมีพานรองรับหีบเพลิงพระราชทานนั้นด้วย
2. เมื่อถึงกำหนดวันที่ขอพระราชทานเพลิงศพ ให้ทางจังหวัดหรืออำเภอจะต้องจัดเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบปกติขาว ไว้ทุกข์ เพื่อเชิญหีบเพลิงพระราชทานพร้อมด้วยพานรอง(หนึ่งหีบต่อหนึ่งคน) ไปยังเมรุที่จะประกอบพิธี และก่อนที่จะเชิญขึ้นไปตั้งบนเมรุนั้น ควรให้ศพขึ้นตั้งเมรุให้เรียบร้อยเสียก่อนแล้วจึงเชิญพานหีบเพลิงพระราชทานขึ้นไปไว้ทางด้านเหนือศีรษะศพ(บนโต๊ะ ที่ตั้งหีบเพลิงพระราชทานนั้นจะต้องมีผ้าปูให้เรียบร้อยและห้ามมิให้นำสิ่งหนึ่งสิ่งใดวางร่วมอยู่ด้วยเป็นอันขาด) เมื่อเชิญพานหีบเพลิงพระราชทานเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้เชิญไปคำนับเคารพศพหนึ่งครั้ง แล้วจึงลงจากเมรุ
3. ขณะที่เชิญพานหีบเพลิงพระราชทานไปนั้น จะต้องกิริยามารยาท โดยสำรวมและไม่ต้องทำความเคารพผู้ใดและไม่ต้องเชิญหีบเพลิงพระราชทานเดินตามหลังผู้หนึ่งผู้ใดเป็นอันขาด
4. ผู้ที่ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ ทั้งประชาชนและข้าราชการรวมทั้งพนักงาน ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ควรแต่งกายแบบไว้ทุกข์ตามประเพณีนิยม ในกรณี ลูกหลานหรือญาติรวมทั้ง ผู้ที่เคารพนับถือผู้วายชนม์ที่รับราชการจะแต่งกายชุดปกติขาว ไว้ทุกข์ก็จะเป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์และยังนับว่าเป็นการถวายพระเกียรติ
5. ผู้ที่ตั้งแถวรอรับหีบเพลิงพระราชทานเดินไปสู่เมรุ ควรเป็นเจ้าภาพงานการแต่งกายควรแต่งแบบไว้ทุกข์ตามประเพณี ถ้าเป็นข้าราชการแต่งกายปกติขาวไว้ทุกข์
6. ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เชิญหีบเพลิงพระราชทานเดินไปสู่เมรุนั้น ประชาชนที่มาร่วมงานควรนั่งอยู่ในความสงบโดยมิต้องยืนขึ้น ไม่ต้องทำความเคารพและไม่มีการบรรเลงเพลงอย่างใดทั้งสิ้น เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนของพิธีการ เจ้าหน้าที่ผู้เชิญก็มิใช่ผู้แทนพระองค์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย
7. เมื่อถึงกำหนดเวลาพระราชทานเพลิง ให้เจ้าภาพเชิญแขกที่มาในงานนี้ที่อาวุโสสูงสุดในที่นั้นเป็นประธานจุดเพลิง
ประธานในพิธีจุดเพลิงที่อาวุโสสูงสุดนั้น หมายถึง อาวุโสทั้งด้านคุณวุฒิและด้านวัยวุฒิ ทั้งนี้หากมีพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปหรือราชสกุลที่มีเกียรติในราชการ ซึ่งศพหรือทายาทผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือเป็นผู้ที่เคารพนับถืออยู่แล้ว สมควรเชิญบุคคลนั้นเป็นประธาน
8. ในกรณีที่มีการอ่านหมายรับสั่ง ประวัติผู้วายชนม์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณควรอ่านตามลำดับ ดังนี้
8.1 หมายรับสั่ง แสดงถึงการได้รับพระราชทานเพลิงศพ
8.2 ประวัติผู้วายชนม์ เพื่อประกาศเกียรติคุณ
8.3 สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
หมายเหตุ
การอ่านหมายรับสั่ง ประวัติผู้วายชนม์สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณนั้นเป็นขั้นตอนที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามความเหมาะสม ส่วนการลงท้ายสามารถอ่านชื่อ บุคคลผู้เป็นทายาททั้งหมดหรือจะออกชื่อแต่เจ้าภาพก็ย่อมจะกระทำได้
9. ขั้นตอนการพระราชทานเพลิง (หีบเพลิง)
9.1 ผู้เป็นประธานเปิดหีบเพลิง
9.2 หยิบเทียนชนวนมอบให้แก่เจ้าหน้าที่เชิญถือไว้
9.3 หยิบกล่องไม้ขีดไปจุดเทียนชนวน รอจนเทียนลุกไหม้ดีแล้ว
9.4 ผู้เป็นประธานถวายบังคม (ไหว้) ไปที่หน้าหีบเพลิงที่วางอยู่หยิบธูปดอกไม้จันทน์ เทียน จุดไฟหลวงจากเทียนชนวน แล้วจึงวางไว้ใต้กลางฐานตั้งหีบศพเป็นในเสร็จพิธี
กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง

- สรุปเป็นขั้นตอนดังนี้
1. เมื่อได้รับพระราชทานหีบเพลิงมาแล้ว ให้เชิญไปประดิษฐาน ณ ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอหรือหน่วยงานราชการที่สังกัดในท้องที่หรือที่บ้าน จัดพานรองรับหีบเพลิงด้วย
2. ผู้อัญเชิญหีบเพลิงแต่งชุดปกติขาว (ไว้ทุกข์) เดินทางมาถึงบริเวณพิธี พร้อมคณะตามเวลาที่กำหนด (หากมีการทอดผ้าบังสุกุลหลายชุด ขอให้ดำเนินการให้เรียบร้อยก่อน เหลือไว้เฉพาะผ้ามหาบังสุกุล)
3. ผู้อัญเชิญหีบเพลิงลงจากรถ (ไม่มีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและแขกที่มาร่วมพิธีมิต้องยืนขึ้น) เดินตรงไปยังเมรุ (ญาติเดินตาม หยุดอยู่ที่หน้าบันไดเมรุ) อัญเชิญหีบเพลิงขึ้นไปวางไว้บนโต๊ะปูผ้าขาวทางด้านศีรษะศพ (ห้ามวางของอื่นที่โต๊ะนั้น) คำนับศพ แล้วลงจากเมรุ
4. เจ้าภาพอ่านหมายรับสั่ง
5. พิธีกรอ่านประวัติผู้วายชนม์ และคำไว้อาลัยและเชิญชวนสงบนิ่ง
6. เจ้าภาพอ่านสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
7. ให้ผู้อัญเชิญหีบเพลิงกลับขึ้นไปบนเมรุเพื่อเตรียมการแก้ห่อหีบเพลิงและยื่น
8. เชิญประธานขึ้นทอดผ้ามหาบังสุกุลพร้อมกับนิมนต์ประธานสงฆ์ขึ้นพิจารณาผ้ามหาบังสุกุล (ถ้าเป็นไตรพระราชทานจึงใช้พัดยศ)
9. ประธานในพิธีทอดผ้าเสร็จแล้ว เปิดหีบเพลิง หยิบเทียนชนวนจากหีบเพลิงมอบแก่เจ้าหน้าที่อันเชิญหีบเพลิงถือไว้ ประธานหยิบไม้ขีดซึ่งอยู่ในหีบเพลิงมาจุดเทียนชนวน ถวายบังคม (ไหว้) ตรงหน้าหีบเพลิงแล้วหยิบดอกไม้จันทน์ ธูปไม้ระกำและเทียน (ที่มัดรวมกันอยู่)ขึ้นมาจุดไฟจากเทียนชนวนแล้วนำไปวางที่กองฟืนหน้าหีบศพ (ผู้ร่วมพิธียืนขึ้นเมื่อประธานในพิธีเริ่มเปิดหีบเพลิง)
10. พระสงฆ์ขึ้นวางดอกไม้จันทน์ตามด้วยแขกและญาติมิตรตามลำดับควรมีวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งจัดระเบียบประชาชนให้ขึ้นไปวางดอกไม้จันทน์อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย มิให้เบียดเสียดแออัด เป็นการบ่งบอกความเป็นผู้มีวัฒนธรรม เช่น อ่านกำหนดหมายเลขเต็นท์ แล้วประกาศให้ขึ้นไปวางดอกไม้จันทน์ตามหมายเลข เป็นต้น

2.5 การสร้างเมรุแบบต่าง ๆ ในพิธีฌาปนกิจศพ
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ บ่งบอกให้รู้ว่ามนุษย์มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ใช้ภูมิปัญญาพัฒนาชีวิตในสังคมอย่างมีคุณภาพ อีกทั้งให้ความสำคัญแก่ผู้ตายอย่างยิ่งตัวอย่างหลักฐานจากบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี บ้านโนนนกทา จังหวัดขอนแก่น และเมื่อปี 2542ก็ได้พบหลักฐานการประกอบพิธีกรรม 2 ลักษณะ คือ การฝัง (Interment) และการเผาศพ(Cremation) ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่นิยมปฏิบัติเมื่อมีการนับถือพุทธศาสนาแล้วเมื่อ 2,000 ปี ในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ เขตอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด หลายแห่ง การขุดพบครั้งนี้ปรากฏพิธีกรรมการทำศพที่แตกต่างออกไป นั่นก็คือ พิธีกรรมการฝังศพครั้งที่ 2 (Secondary Burial) หมายถึง การนำศพไปฝัง ณ ที่ใดที่หนึ่งในระยะเวลาหนึ่ง แล้วขุดศพขึ้นมาเพื่อบรรจุในภาชนะดินเผา (Burial Jar) แล้วนำไปฝังอีกครั้ง (สุกัญญา เบาเนิด. 2546 : 247 – 248)
แม้ในปัจจุบันมนุษย์ก็ยังให้ความสำคัญแก่ผู้ตาย มีพิธีกรรมปฏิบัติเป็นประเพณีเป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันมาช้านาน ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้างแล้วแต่ความเชื่อศรัทธาของแต่ละสังคม และพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายนั้นมักจะต่อเนื่องกันในทางศาสนา มีพระเป็นปัจจัยหลักในการประกอบพิธี ถ้ามีการตายก็นิมนต์พระมากระทำพิธีทางศาสนา ตั้งแต่สวดพระอภิธรรม การเทศนา การนำศพไปยังสถานที่ประกอบพิธีเผา ไม่ว่าจะเป็นป่าช้า วัด หรือฌาปนสถานอื่น ๆ สถานที่ทำฌาปนกิจจะมีรูปแบบลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

2.5.1. กองฟอนหรือเชิงตะกอน
เป็นการนำฟืนจำนวนหนึ่งมาเรียงขึ้นเป็นกองไว้สำหรับเป็นที่เผาศพ สมัยก่อนบ้านเมืองยังไม่เจริญ นิยมนำศพไปเผาที่ป่าช้าหรือตามหัวไร่ปลายนาของผู้ตายตามคำสั่งเสียก่อนสิ้นชีวิต ฟืนก็หาง่าย เมื่อนำศพไปถึงสถานที่ที่จะเผาก็เสี่ยงทายโดย โยนไข่ไก่ดิบไปข้างหน้า ไข่แตกตรงไหนถือว่าผู้ตายประสงค์จะอยู่ตรงนั้นก็จะก่อกองฟอนที่บริเวณไข่แตก กองไม้สูงพอประมาณเมตรเศษ เรียกว่า กองฟอน เมื่อกองเสร็จเรียบร้อยก็ปักหลักชิดมุม ทั้งสี่ของกองฟอน เรียกว่า หลักสะกอน หลักสะกอนทำหน้าที่กันมิให้ฟืนพังลงมาหรือเอียงข้างใดข้างหนึ่งขณะเผาศพ ก่อนจะนำศพขึ้นตั้งบนกองฟอน ให้หามศพเวียนซ้ายรอบกองฟอน 3 รอบ เมื่อตั้งไว้ที่กองฟอนแล้ว จะทำพิธีรดน้ำศพและประกอบพิธีทางศาสนา ก่อนจะทำการเผาให้นำไม้ท่อนใหญ่ 2 ท่อนวางทับโลงในลักษณะค้ำยันทั้ง 2 ข้าง เพื่อกันมิให้โลงศพตะแคงหรือพลิกคว่ำขณะที่กำลังเผา ไม้สดใหญ่ 2 ท่อนนี้ เรียกว่า ไม้ข่มเหง (ปริญญาณภิกขุ. 2534 : 47)

2.5.2. เมรุลอย
เป็นเมรุแบบถอดได้ที่มีลักษณะทรงปราสาทยอดแหลมหลายยอดประกอบด้วยชิ้นส่วนโครงไม้หลายชั้น ถอดเข้าถอดออกได้ เมื่อต้องการจะนำไปใช้เผาศพในสถานที่ต่าง ๆ สามารถถอดเป็นชิ้นส่วน บรรทุกขนย้ายไปติดตั้งเป็นเมรุเผาศพในท้องที่ใกล้ไกลได้ลักษณะของเมรุลอย มีหลายแบบหลายขนาดให้เลือกได้ตามความพอใจของเจ้าภาพเช่น ขนาด 3 ชั้น 1 ยอด ขนาด 5 ยอด หรือ ขนาด 9 ยอด เป็นต้น การจะนำเมรุไปยังสถานที่ต่าง ๆ ต้องใช้รถบรรทุก รถกระบะ ขนาด 10 ล้อ ตั้งแต่ 1-3 คัน ตามลักษณะชนิดของเมรุแต่ละขนาด การเผาศพกับเมรุลอย ต้องใช้ถังน้ำมันขนาด 20 ลิตร เชื่อมต่อกัน 2 ใบ ส่วนล่างสุดมีตะแกรงสำหรับใส่ถ่านไม้เพื่อใช้เผาศพ ส่วนลวดลายที่ใช้ประดับตกแต่งเมรุ นิยมใช้ลายกระดาษและลายเขียนสีลงทองเคลือบด้วยวานิช เพื่อทำให้ลายคงคนถาวร ความสูงของเมรุลอยโดยประมาณ 11 เมตร เมรุลอยนิยมใช้เผาศพในภาคกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีผู้ยึดอาชีพบริการเมรุลอยเป็นจำนวนมาก (วีรศักดิ์ กลิ่นถาวร. 2538 : 185-186)

2.5.3. เมรุถาวร
เมรุถาวร คือ เมรุที่มีลักษณะทรงกุฎาคารหรือทรงบุษบกหรือทรงปราสาทยอดแหลมที่ปลูกสร้างขึ้น เป็นอาคารคอนกรีตถาวรที่พบเห็นตามวัดทั่ว ๆ ไป มีลักษณะรูปทรงคล้าย ๆกัน มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นอาคารยอดแหลม เป็นที่ตั้งศพก่อนเผา ส่วนนี้จะมีบันไดขึ้นลง 3 ทาง เพื่อประกอบพิธีกรรมในขั้นตอนต่าง ๆ ส่วนที่สอง เป็นส่วนของเตาเผาที่มีท่อสูงก่อด้วยอิฐทนไฟ เมื่อเผาศพควันจะลอยขึ้นสู่ปลายท่อหายไปในอากาศ
การประดับตกแต่งเมรุโดยทั่วไป เป็นลายปูนปั้นตามแบบศิลปของสถาปัตยกรรมไทยโดยทั่วไป คือ ในส่วนของหลังคาประกอบด้วยลายปูนปั้นทรงรวงผึ้ง ลายประจำยามก้ามปู และลายกระจัง สำหรับการประดับตกแต่งในส่วนอื่น ๆ เช่น การประดับดอกไม้สดหรือการประดับไฟเป็นเรื่องของเจ้าภาพที่จะกระทำให้สวยงาม หลากหลาย มุ่งให้ดีเลิศที่สุดสำหรับผู้ตาย ตามสภาพฐานะของแต่ละเจ้าภาพและสังคม หากศพเป็นบุคคลสำคัญของสังคมหรือศพพระเถระที่สำคัญ ๆในทางพระพุทธศาสนา ก็จะมีการตกแต่งหลากหลายเนื่องจากมีแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานอย่างมากมาย สิ่งเหล่านี้นับเป็นพัฒนาการการเผาศพควบคู่กับการพัฒนาความเจริญของสังคมไปด้วยการเผาศพด้วยเมรุแบบถาวรที่วัดโดยทั่วไปเป็นการพัฒนาสภาพของสังคมเกี่ยวกับการเผาศพ โดยที่ไม่ต้องนำศพไปเผาตามป่าช้า หรือตามหัวไร่ปลายนาเหมือนแต่ก่อน เพราะสภาพสังคมเปลี่ยนไป ป่าช้าก็หมดไป ฟืนก็หายาก ผืนดินรกร้างว่างเปล่าตามหัวไร่ปลายนาก็ถูกแบ่งปันมีคนอยู่อาศัยมากขึ้น จึงไม่เอื้อต่อการประกอบพิธีกรรมเผาศพเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

2.5.4. เมรุนกหัสดีลิงค์
เป็นเมรุชั่วคราวที่ใช้ประกอบพิธีกรรมปลงศพเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หรือพระมหาเถระที่ทำคุณแก่พระศาสนาเป็นอเนกประการ มี 2 แบบ ได้แก่

- แบบมณฑปตั้งอยู่บนหลังนก
เมรุแบบนี้สร้างให้ชักลากเลื่อนไปได้เพื่อให้ชักลากศพแห่จากคุ้มหรือโฮงของเจ้านายที่ถึงแก่กรรมไปสู่ข่วง (บริเวณเมรุ) การสร้างหอแก้วครอบหีบศพหรือโลงศพและตั้งอยู่บนหลังนกจะทำให้ลักษณะรวมของเมรุรูปแบบนกหัสดีลิงค์มีความสมบูรณ์มากขึ้นในขณะที่มีการแห่ศพจากหลักฐานการสร้างเมรุแบบมณฑปตั้งอยู่บนหลังนกนี้ เป็นการปลงศพเจ้านาย ผู้ใหญ่ที่เป็นเชื้อสายอัญญาทั้งปวง สืบมาแต่เจ้าครองเมือง เจ้าอุปฮาด เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร ที่เคยมีมาในภาคอีสานได้แก่ พิธีปลงศพญาพ่อตาพระอุบลการประชานิตย์ ท้าวสิทธิสาร (บุญชูพรมวงศานนท์) ญาพ่อโฮมแพง พิธีปลงศพพระราชมุนี (อ้วน) วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี(บำเพ็ญ ณ อุบล. 2535 : 27)

- แบบมณฑปครอบนก
เป็นเมรุที่สร้างอยู่กับที่ไม่มีการชักลากโดยสร้างมณฑปหรือบุษบกครอบตัวนก มีหีบศพหรือโลงศพตั้งอยู่บนหลังนก เมรุแบบนี้มีปรากฏหลักฐานในการปลงศพเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นเชื้อแถวแนวพันธุ์ในอัญญาทั้งปวง รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่
นอกจากนี้ยังมีลักษณะมณฑปหรือบุษบกครอบตัวนกหัสดีลิงค์ซึ่งเป็นลักษณะรวมของเมรุแบบนกหัสดีลิงค์ที่มีความสมบูรณ์อยู่กับที่ตามข้อมูลที่นำเสนอ เป็นเมรุในงานพระราชทานเพลิงศพพระอริยานุวัตร (อารีย์ เขมจารี) ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ 7 เมษายน 2536 ที่มีลักษณะโครงสร้างบุษบกส่วนล่างจะประกอบภายในตัวนก เป็นผลให้ลักษณะของบุษบกอยู่บนหลังนกหัสดีลิงค์และไม่มีพิธีกรรมแห่ศพพร้อมกับชักลากแต่อย่างใด
2.6 วิเคราะห์ถึงปรัชญาคติในเรื่องประเพณีเกี่ยวกับการตาย
การตาย หมายถึง การไร้ชีวิต ขาดความเป็นอยู่ที่เรียกว่าการมีชีวิต ผู้มีชีวิตอยู่เบื้องหลัง จึงมีภาระที่จะแสดงออกให้ปรากฏแก่ผู้ตาย ยิ่งผู้ตายเคยมีบุญคุณ สร้างความดีไว้มาก ผู้มีชีวิตยิ่งแสดงความกตัญญูแก่ผู้ตายมาก และการตายนั้น ผู้ยังมีชีวิตอยู่จะไม่ทราบเลยว่า ผู้ตายจะไปสู่ทางดีหรือทางชั่ว แต่ตามปรัชญาคติที่คนไทยโบราณจะกล่าวกันทราบเลยว่า “สี่คนหาม สามคนแห่ คนหนึ่งนั่งแคร่ และสองคนพาไป” อันหมายความว่า มนุษย์เราจะมีชีวิตอยู่ได้เพราะธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม และไฟสัมพันธ์หรือประสานกัน มีความสมดุลกันด้วยดี มีสามคนแห่เพราะสามสิ่งเป็นกิเลสที่แห่แหนชักจูงเรา อันได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ คนหนึ่งนั่งแคร่ อันได้แก่ จิตใจผู้เป็นนายของร่างกาย อาจจะพาไปในทางดีหรือทางไม่ดีคือบาปก็อยู่ที่จิตใจ ในสองทางนี้ สิ่งที่ปรารถนาของผู้อยู่หลังหรือญาติมิตรคือทางดีได้แก่บุญ จึงจัดให้มีพิธีอาบน้ำศพ เพื่อเป็นการชำระบาป และจัดให้มีการตั้งศพบำเพ็ญบุญ เพื่อเป็นการเสริมสร้างกุศลหนุนส่งให้ผู้ตายอีกทอดหนึ่ง เพื่อให้ผู้ตายได้สำเร็จเกิดความดีตามที่ได้ตั้งเจตนารมณ์ไว้ เจ้าภาพนอกจากจะทำบุญเพิ่มกุศลเฉพาะที่เป็นส่วนตน ยังเชิญให้ผู้อื่นร่วมด้วยช่วยส่งเสริมอีก เพื่อให้ผลบุญ เกิดแก่ผู้ตายได้เต็มที่สมบูรณ์ แม้การเผาและเก็บอัฐิของผู้ตาย ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้ตายได้เคยทำความดีไว้มาก จะตายแต่ร่างกายเท่านั้น ส่วนคุณความดียังมีปรากฏอยู่ในโลกมนุษย์ เป็นปรัชญาคติให้เห็นว่า คนเราจะตายเพียงแต่ร่างกายเท่านั้นอันเป็นส่วนภายนอก แต่ส่วนจิตใจภายในหรือคุณความดีจะมีปรากฏ ทุกคนควรเสริมสร้างความดีให้มาก เพราะความดีเป็นอมตะภาวะ ความดีเป็นคุณธรรมอันสูงสุด ความดีเป็นสิ่งสมบูรณ์ที่สุด ความดีย่อมเป็นอยู่มีอยู่ตลอดไป ไม่รู้จักตาย

2.7 ศาสนคติทางพระพุทธศาสนา
ในด้านศาสนาคติ โดยเฉพาะคติทางพระพุทธศาสนา เชื่อกันว่า มนุษย์มีส่วนประกอบด้วย 2 ส่วน คือ รูปหรือร่างกาย กับ จิตหรือนาม ใน 2 ส่วนพระพุทธศาสนา เชื่อว่า ส่วนที่เป็นจิตหรือนามมีความสำคัญกว่า จึงมีการพัฒนาส่วนที่เป็นจิตให้สูงขึ้น เพื่อได้นามว่า “มนุษย์” หรือยิ่งพัฒนา ส่วนที่เป็นจิตให้สูงขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งได้นามสูงขึ้นตามลำดับ เช่น เทวดาบ้าง อริยบุคคลบ้าง ยิ่งสูงขึ้นเท่าใด ความตายจะมีปรากฏได้เฉพาะในร่างกายเท่านั้น แต่ในด้านจิตใจที่ได้สร้างคุณความดีให้ปรากฏ ก็ยังปรากฏเป็นอมตภาวะอยู่ และจะได้รับความเคารพบุชา สักการะจากผู้ที่มีคุณความดีต่ำกว่า เช่น เทวดาและมนุษย์ ยังต้องเคารพบูชา สักการะ ผู้มีคุณธรรมสูงยิ่ง เช่น พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเหล่านี้ได้เคยปฏิบัติหรือเป็นผู้นำทางให้ศาสนิกชนได้ปฏิบัติตามแล้ว
แต่ในปัจจุบัน การเข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคลหรือเข้าถึงพุทธภาวะจะเข้าถึงได้ยากยิ่ง เพราะมนุษย์ปัจจุบันยังเป็นปุถุชนอยู่ส่วนมาก จะทราบถึงได้แจ้งชัดว่า ผู้ที่เรารัก ที่เราชอบตายไป ได้รับความสมหวังอันเป็นทางที่ดีหรือไม่ รู้ได้ยาก เมื่อท่านตายแล้ว มีทางเดียวที่ถือว่าดีที่สุด คืออาศัยการบำเพ็ญกุศล หนุนส่งให้ผู้ตายได้มีความผาสุกอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าหากมีความทุกข์ ขอให้พ้นจากทุกข์ ถ้ามีความเดือดร้อน ขอให้พ้นจากความเดือดร้อน และการทำบุญ ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญในพระพุทธศาสนา คือ พระภิกษุสงฆ์เท่านั้น การทำบุญโดยยึดพระภิกษุสงฆ์เป็นศูนย์กลาง เป็นแหล่งหรือเป็นฐานในการสร้างกุศล นอกจากจะทำให้บุญสำเร็จด้วยดีแล้ว ยังเป็นการทำให้บุญสำเร็จด้วยดีแล้ว ยังเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไปในตัวอีกด้วย หากผู้ตายมีส่วนบุญที่ตนจะได้รับทางอื่น บุญกุศลที่บุคคลได้บำเพ็ญในครั้งนี้ ผู้กระทำเหล่านั้นย่อมได้รับเป็นส่วนของตนอีกด้วย
เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีแก่ท่านเหล่านั้นด้วย หากผู้ตายไม่เคยทำความดีให้แก่เรา ก็เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ต่อพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ในฐานะท่านเป็นสมมติสงฆ์ทำหน้าที่แทนพระอริยสงฆ์องค์หนึ่งในพระรัตนตรัย ที่เป็นที่พึ่งของชาวพุทธศาสนิกชน และเป็นผู้กำชะตากรรมของพระพุทธศาสนาโดยตรง ถ้าพระภิกษุสงฆ์ยังมีอยู่ตราบใด พระพุทธศาสนาก็ยังคงมีอยู่ตราบนั้น
การไปร่วมงานศพและเคารพศพ ในทางศาสนคติถือว่าเป็นการระลึกนึกถึงความดีของผู้ตาย แม้ผู้ตายเมื่อแม้เคยปกครอง เป็นผู้บังคับบัญชาเรา อาจจะไม่ชอบเรา เคยทำโทษหรือลงโทษแก่เรา การไปร่วมงานเคารพศพ ก็จัดว่าเป็นการขอขมาลาโทษหรือขออโหสิกรรมแก่กันและกัน เป็นการยึดศาสนคติดีทางพระพุทธศาสนา อันเป็นการรักษาและปฏิบัติตามหลักกรรมทางหลักกรรมทางพระพุทธศาสนาด้วย เพราะการทำกรรมในพระพุทธศาสนาจะดีหรือไม่ดี อยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ และจะต้องทำใน 3 ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ การทำบุญตามประเพณีเกี่ยวกับการตายจึงเป็นกุศล เพราะประกอบด้วยลักษณะดังกล่าวแล้วโดยถูกต้องสมบูรณ์

อ้างอิง
ไสว เสนาราช.วิจัย,พัฒนาการด้านภูมิปัญญาและความเชื่อในพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายของคน
จังหวัดร้อยเอ็ด,มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,2550.
เสถียรโกเศศ.ประเพณีเนื่องในการเกิดประเพณีเนื่องในการตาย,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สมาคม
สังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย,2505.
กรมศิลปากร. ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต. พระนคร : การรถไฟ, 2511.
กฤษณะ เจริญพานิช. การยอมรับนวัตกรรมเตาเผาศพแบบห้องเผาไหม้คู่ของพนักงานฌาปนกิจ
ประจำสุสานในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระ ศศ.ม. เชียงใหม่ :
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.
บุญมี แท่นแก้ว,ผศ.ประเพณีและพิธีกรรมพระพุทธศาสนา,กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์,2547.
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ. กระบวนทัศน์วัฒนธรรมไทย ต้นตอ เศรษฐกิจถดถอย. กรุงเทพฯ :
รุ่งศิลป์, 2541.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอก
ลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดมหาสารคาม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2542.
งามพิศ สัตย์สงวน. ประสบการณ์วิจัยทางมานุษยวิทยาข้ามวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ :ภาควิชาสังคม
วิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541.
จรัส พยัคฆราชศักดิ์. เอกสารประกอบการสอนไทยคดีศึกษา ศาสนาและลัทธินิยมในท้องถิ่น.
มหาสารคาม : ปรีดาการพิมพ์, 2530.
จารุวรรณ ธรรมวัตร. คติชาวบ้าน. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาสารคาม,
2530.
ฉลาดชาย รมิตานนท์. ความเชื่อทางศาสนา พิธีกรรมความเชื่อทางวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญา
ชาวบ้านในความเชื่อและพิธีกรรม. เชียงใหม่ : วิทยาลัยครูเชียงใหม่, 2537.
ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ. “แนวคิดในการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมไทย,” ใน เอกสารการสอนชุด
วิชาสังคมและวัฒนธรรมไทย หน่วยที่ 1 – 7. นนทบุรี :มหาวิทยาลัยสุโขทัย
ธรรมาธิราช,2533.
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. แนวทางและวิธีวิจัยสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, 2548.
ชยันต์ วรรธนะภูติ. การวิจัยเชิงคุณภาพเพื่องานพัฒนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัย
และพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2537.
ชัยชนะ จิตบุฐ. การศึกษาประเพณีงานศพของชาวไทยท้องถิ่นจังหวัดตรัง. ปริญญานิพนธ์ ศศ.ม.
นิตยา บุญสิงห์. วัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ : เรืองแสงการพิมพ์, 2546.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. “ความหลากหลายของวัฒนธรรมไทย ความท้าทายใหม่,” ใน สู่ความเข้าใจ
ในวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วัฒนธรรมแห่งชาติ, 2532.หน้า 1-9.
นิยพรรณ วรรณศิริ. มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย
เกษตรศาสตร์, 2540.
บุญเลิศ สดสุชาติ. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ดร.คำหมา แสงงาม. กรุงเทพฯ :
อมรินทร์พริ้นติ้งกรุฟ, 2533.
บุญสม ยอดมาลี. ทฤษฎีวัฒนธรรมและสังคม. มหาสารคาม : เอกสารประกอบการสอน
วิชาทฤษฎีวัฒนธรรมและสังคม, 2544.
แปลก สนธิรักษ์. พิธีกรรมและลัทธิประเพณี. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช,
2504.
พรรณวดี วศินวรรธนะ,อรศรี งามวิทยาพงศ์, “ตายดี,”สระบุรี: กลุ่มศึกษาธรรม (2548).
(บรรณาธิการ).มรณสติ: พุทธวิธีต้อนรับความตาย(พิมพ์ครั้งที่2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิ
โกมล คีมทอง.
ฉลาดชาย รมิตานนท์. ผีเจ้านาย. กรุงเทพฯ: พายับ ออฟเซท พรินท์,(2527).
ธนา นิลชัยโกวิทย์,และคณะ. ทบทวนกระบวนทัศน์เรื่องความตายและมิติแห่งสุขภาวะ.กรุงเทพฯ:
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) (2546).
ปรานี วงษ์เทศ.พิธีกรรมเกี่ยวกับการตายในประเทศไทย. เอกสารประกอบการจัดนิทรรศการ
,(2534).
ศูนย์มานุษยวิทยาสินธร มหาวิทยาลัย ศิลปากร.เรื่อง “ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต”, กรุงเทพฯ:
อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด.
พระจิตติเทพ hap-67titjit@live.com

13 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ22 เมษายน 2554 เวลา 00:41

    ขอบคุณข้อมูลความรู้ที่ละเอียดมากๆอย่างนี้นะคะ มีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่สนใจค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ผมกลับมาแล้วครับ ขอขอบคุณผู้สนใจศึกษานะครับ

      ลบ
  2. ได้ความรู้ละเอียดดีค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

    ตอบลบ
  3. ประมวล
    เยียมมากครับ เป็นกุศลในการเผยแพร่ควมรู้

    ตอบลบ
  4. คำตอบ
    1. ครับ ขอโทษที่หายไปนานนะครับ คือ ผมไปเรียนอะครับ

      ลบ
  5. ห่างหายไปหลายปี ก็ไปเพื่อเติมความรู้ให้แน่นสักนิดครับ ขอบคุณที่ติดตามบทความต่างๆ ของผม อีกทั้งหลายท่านเอาไปอ้างอิงขอบคุณมาก ผมจะพยายามให้มากกว่านี้ครับ

    ตอบลบ
  6. เผาศพเสร็จ​เเล้วเจ้าพาวจะนิมนต์พระไปสวดอะไรคับ
    มีบทใหนบ้าง

    ตอบลบ

จิตติเทพ เว็บบล็อก