วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

จดหมายเหตุพระอี้จิง (I-Tsing)

พระอี้จิงเกิดเมื่อราว พ.ศ. ๑๑๗๘ ที่ฟันหยางใกล้กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน หลังจากพระถังซัมจั๋งกลับเมืองจีนท่านมีอายุ ๑๐ ปี เมื่ออายุได้ ๑๔ ปีก็บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุครบ ๒๐ ท่านได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุหลังจากได้ศึกษาพระธรรมอย่างช่ำชองแล้ว จึงเกิดแนวคิดที่จะไปสืบพระศาสนาในอินเดีย
ต่อมาท่านเดินทางเข้าสู่ประเทศอินเดียต่อจากพระถังซัมจั๋งไม่นานนัก เมื่ออายุ ๓๗ ปี ผ่านทางทะเล โดยแวะที่สุมาตราเป็นเวลา ๘ เดือน ผ่านอาณาจักรศรีวิชัย พัก ๖ เดือน พักที่มาลายู ๒ เดือนจนถึงฝั่งที่อินเดียที่ตามรลิปติ
จากนั้นเดินทางเข้ามคธ ได้สักการะสังเวชนียสถาน และศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ๑๐ ปี และกลับเส้นทางเดิมโดยแวะศึกษาภาษาสันสกฤตที่อาณาจักรศรีวิชัย ๔ ปี ได้รับการต้อนรับจากราชสำนักเป็นอย่างดี ท่านได้กล่าวถึงอาณาจักรศรีวิชัย ไว้ว่า "อาณาจักรศรีวิชัยนั้นพุทธศาสนารุ่งเรืองเหมือนในอินเดีย มีพระสังฆราชชื่อว่าศากยเกียรติ (Sakyakirti) เป็นประมุขสงฆ์ เมืองชั้นใหญ่น้อยหลายร้อยเกาะ พระจีนที่จะไปอินเดียควรเตรียมตัวเรียนสันสกกฤตที่นี่ก่อน"
ท่านยังกล่าวอีกว่า "ที่ฟูหนำ (หรือ พนม) มีเมืองหลวงชื่อว่าอินทรปุระ (Indrapura) พระราชาแห่งเมืองนี้นามว่า พระเจ้าถรวรมัน (Tharvarman) ทรงนับถือศาสนาฮินดูอย่างเคร่งครัด และเริ่มทำลายพุทธศาสนาอย่างหนัก แต่เทิดทูนบูชาศิวลิงค์ทอง"
พำนักอยู่ในอินเดียเป็นเวลา ๒๕ ปี ท่านพูดภาษาถิ่นในอินเดียได้อย่างคล่องแคล่ว ผลงานของท่านหลายเล่มได้ถูกพิมพ์เช่นเดียวกับพระถังซัมจั๋ง หนังสือที่เด่นคือ "บันทึกเรื่องพุทธศาสนาตามที่ปฏิบัติกันในอินเดีย และหมู่เกาะมาลายู" ในหนังสือเล่มนี้ท่านได้ไปกราบพระเจดีย์ที่พุทธคยา และเขียนรายงานเกี่ยวกับพุทธคยาว่า
"หลังจากนั้น พวกเราก็ได้เดินทางไปที่มหาโพธิมณฑล ใกล้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และได้ก้มกราบแทบพระบาทแห่งพุทธปฏิมา ข้าพเจ้าได้นำผ้าหนาและเนื้อดีซึ่งพระและฆราวาสถวายที่ชาตุงมาทำเป็นผ้ากาสาวพัสดุ์บูชาและห่อห่มที่องค์พระพุทธปฏิมา ข้าพเจ้าได้ถวายฉัตรขนาดเล็กจำนวนมากที่ท่านอาจารย์ฝ่ายวินัยชื่อเหียนฝากมาในนามท่าน ท่านอาจารย์เซน (ธยาน) ชื่อว่า อันเต๋า มอบหมายหน้าที่ให้บูชาพระพุทธเจดีย์ และข้าพเจ้าได้ทำหน้าที่ในนามของท่านเช่นกัน ในขณะนั้นข้าพเจ้าได้หมอบตัวลงพื้นด้วยจิตใจที่แน่วแน่ ด้วยความตั้งใจและด้วยความเคารพอย่างสูง ครั้งแรกข้าพเจ้าได้ปรารถนา ต่อประเทศจีนว่าผลประโยชน์สี่ประการจงแผ่ขยายไปสู่สรรพสัตว์อย่างกว้างขวางในความรู้สึกในเขตแดนแห่งพระธรรมทูต และข้าพเจ้าได้เน้นย้ำถึงความปรารถนาของข้าพเจ้าที่จะรวมเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ต้นนาคะเพื่อให้เข้าถึงความรู้ที่จะไม่ทำให้เกิดใหม่อีกต่อมาข้าพเจ้าได้เดินประทักษิณรอบสานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้"
และอีกเล่มคือ "ภิกษุผู้ไปแสวงหาพระธรรมในประเทศตะวันตก" จากหนังสือเล่มนี้ทำให้เราทราบว่า มีนักแสวงบุญเป็นจำนวนมาก ได้เดินทางฝ่าอันตรายและความยากลำบากไปแสวงหาพระธรรมในประเทศอินเดีย แต่การเดินทางไปนั้นเป็นเรื่องแห่งความเศร้า เพราะแม้ว่าจะได้ผลคุ้มค่าแต่ความลำบากก็มีอยู่ทั่วไป สถานที่สำคัญ ๆ ก็อยู่ห่างไกลกัน มีคนเป็นจำนวนมากที่พยายามจาริกไปในสถานที่เหล่านั้น แต่ทำได้เพียงไม่กี่คนเพราะมีทะเลทรายขวางกั้นอยู่ ความร้อนในทะเลทรายแทบจะละลายทุกสิ่งทุกอย่างให้มอดไหม้ ทางทะเลก็เต็มไปด้วยคลื่นใหญ่เหมือนภูเขา มีปลาใหญ่พ้นน้ำสูงเท่าต้นตาล ส่วนทางบกที่ต้องผ่านเอเชียกลางผ่านเมืองสมารกันด์บากเตรีย ต้องผ่านภูเขาถึง ๑๐.๐๐๐ ลูก มีหุบเขาลึกและสูงชัน นี้คือเหตุผลว่าทำไมมีคนเดินทางไปกว่า ๕๐ คน แต่รอดมาได้พียงหยิบมือเดียวเท่านั้น ภิกษุเกาหลีเป็นจำนวนมากได้เดินทางไปอินเดียผ่านเอเชียกลาง แต่ท่านเหล่านั้นก็มรณภาพเป็นส่วนมาก ต่อมาการเดินทางผ่านเอเชียกลางยิ่งลำบากมากยิ่งขึ้นอีก เพราะเกิดการปฏิวัติในธิเบต และกองทัพมุสลิมยึดครองส่วนเหนือของอินเดียได้อย่างเด็ดขาด
ท่านอี้จิงยังได้แปลหนังสือราว ๕๖ เล่ม จาก ๔๐๐ เล่ม ที่ท่านนำมาจากอินเดียด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากพระอินเดียหลายท่านคือ ท่านสิกขนันทะ ท่านอิศวระและรูปอื่น ๆ เมื่อท่านกลับจีนได้รับการแต่งตั้งจากพระจักรพรรดินีให้เป็น "มหารัฐคุรุ" ของประเทศจีน และเป็นที่เคารพของพระจักรพรรดินีปูเช็กเทียนเป็นอย่างยิ่ง ท่านจำพรรษาที่วัดได้เฮงเลี่ยงยี่ (มหาวัฒนากุศลาราม) ซึ่งเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น มรณภาพเมื่ออายุ ๘๐ ปี ท่านได้เขียนรายงานสถานการณ์พุทธศาสนาหลายแห่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังเป็นอย่างมาก
และที่ภาคใต้ของอินเดีย ก็ได้มีพระสงฆ์ท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียง และท่านได้ไปเผยแพร่พุทธศาสนาในจีน ตามอย่างพระสงฆ์อินเดียหลาย ๆ ท่าน ท่านคือ พระโพธิรุจิ
ที่มา : หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย เขียนและรวบรวมโดยพระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ พระธรรมทูตสายต่างประเทศรุ่นที่ ๙ ,
http://www.dhammathai.org/buddhism/india/index.php,7/กันยายน/2554.

ประวัติศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จิตติเทพ เว็บบล็อก